ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
"กิตติรัตน์" แจกแจง ครม. "ธปท." ดื้อไม่ยอมลดดอกเบี้ย แก้บาทแข็ง


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ตนได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทราบเรื่องของสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท

ที่ขณะนี้สถานการณ์ทุเลาลงและอัตราการแข็งค่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพพอสมควร อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าทะลุลงต่ำกว่า29บาทไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจ ซึ่ง รมว.พาณิชย์  รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งให้ครม.ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการคลังได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ เพราะหากกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆก็จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้
         
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่30 เมษายน ที่ผ่านมาได้รายงานให้ ครม.ทราบถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบคำสอบถามที่ถามไปใน 3 ประเด็นด้วยกัน
ประการที่ 1 ภาวะสถานการณ์ทางการเงินของธปท.ว่ามีผลกระทบอย่างไรจากการดำเนินนโยบายทางการเงิน ประการที่ 2 แนวคิดการดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยว่ามีความเหมาะสมมีผลดีผลเสียประการใด และประการที่ 3 มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่เกิดความเหมาะสมว่า ธปท.มีการเตรียมการเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.ครั้งนั้นได้รายงานถึงหนังสือฉบับที่ทางธปท.ตอบมาลงวันที่29 เมษายนโดยตอบมา 2 ข้อ คือ1.เรื่องของสถานการณ์การเงินของธปท.ซึ่งก็เป็นที่ทราบว่า งบการเงินของธปท.เมื่อสิ้นปี2555 ส่วนทุนของธปท.ติดลบอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้มีการรายงานว่า ผลกระทบมาจาก 2 ส่วน คือ 1.ส่วนของผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง และส่วนที่ 2 คือผลกระทบจากการตีมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองอยู่ ซึ่งหากค่าเงินบาทมีมูลค่าแข็งขึ้นก็จะทำให้การคำนวนมูลค่าทางบัญชีประสบผลขาดทุน

ในข้อที่ 2 แนวคิดเรื่องอัตราดอกเบี้ย ธปท.ได้ชี้แจงแนวทางนี้ว่า แม้ว่าการลดดอกเบี้ยลงจะสามารถชะลอการไหลเข้าเงินทุนจากต่างประเทศได้ แต่ ธปท.ก็ได้บรรยายถึงเหตุผลของข้อกังวลของธปท.และวิเคราะห์ว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยน่าจะป็นปัจจัยรองเพราะว่าผู้ลงทุนน่าจะประสงค์ที่จะได้ผลตอบแทนอื่นเช่นเรื่องของการแข็งค่าของเงิน หรือหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้นฃ

ข้อที่3 ในเรื่องมาตราการการควบคุมดูแลเรื่องการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ทาง ธปท.ยังไม่ได้ชี้แจงมาในการประชุมวันนั้น หลายคนทราบดีว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมนัดพิเศษ หลังจากนั้น ธปท. ได้ทำหนังสือแจ้งว่า กนง.ได้พิจารณาเรื่องของเงินทุนไหลเข้าว่าเป็นอย่างไรบ้าง และได้แจ้งให้ทราบ ตนเองได้เรียน ครม.ว่า ทำหนังสือแจ้งตอบกลับไปยัง ธปท.โดยที่มีความเห็นของรมว.คลังใน3เรื่องด้วยกันคือ

ประการที่1 การขาดทุนของธปท.เป็นเรื่องที่เข้าใจได้  แต่คณะกรรมการธปท.และตัวธปท.เองจะต้องพิจารณาด้วย เพราะแม้จะมีการจัดตั้งคณะทำงานมาดูแลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแผนแก้ไขให้สถานการณ์ตรงนี้ให้ดีขึ้น และในทางปฎิบัติเชื่อว่าตัวเลขเงินทุน จำนวน5.3หมื่นล้านบาท ที่ติดลบเมื่อสิ้นปี 2555 น่าจะมีตัวเลขที่เป็นลบมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงยังดำเนินต่อไป และจากวันนั้นถึงวันนี้อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งค่าขึ้น ดังนั้นการประเมินทรัพย์สินต่างประเทศเป็นมูลค่าเป็นบาทก็คงมีมูลค่าน้อยลงอีก ตนเองจึงแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้และหวังว่าธปท.จะทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรไม่ให้มีผลกระทบต่อสถานะการเงินที่จะขยายตัวต่อไป

ประการที่2 ในเรื่องของดอกเบี้ย นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตนเองมีความเห็นว่า การมองว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยเป็นปัจจัยน้อยหรือปัจจัยรองน่าจะไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยก็ทำให้เกิดโอกาสในการไหลเข้าของเงิน ซึ่งย่อมส่งผลต่อการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ดังนั้น การที่ผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งประสงค์จะได้รับผลตอบแทนในเรื่องการแข็งค่าของค่าเงินบาทแท้ที่จริงก็มาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยด้วย ฉะนั้น ควรจะนำเอาผลของทั้งส่วนต่างของดอกเบี้ยและการคาดการณ์การแข็งค่าของเงินบาทมาพิจารณารวมกันไม่ใช่แยกกัน และก็มาบอกว่าเรื่องของดอกเบี้ยไม่น่าจะมีผล

ประการที่ 3 มาตรการที่ธปท.เสนอไว้เป็นแนวทางเท่านั้น ไม่ได้เสนอให้กระทรวงการคลังอนุมัติ แต่เป็นแนวทางที่กระทรวงการคลังเห็นได้ว่า ในบางมาตรการเป็นมาตรการที่ ธปท.สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่มีบางมาตรการนั้นดูจะยังคงมีลักษณะที่ไม่พร้อมใช้ เพราะถ้าจะให้พร้อมใช้จะต้องแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ดังนั้น ในฐานะรมว.คลังได้ตอบไปว่า สำหรับมาตรการที่มีการพร้อมใช้และดำเนินการด้วย ธปท. เองก็ขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและทันต่อสถานการณ์  ในขณะที่มาตรการที่ยังไม่พร้อมใช้ หากประสงค์ที่จะให้พร้อมใช้ก็ขอให้ ธปท.เสนอมาตรการเหล่านั้นเพื่อนำไปแก้ไขเป็นกฎหมายให้ถูกต้องเพื่อเตรียมพร้อมใช้

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางที่มีในหนังสือลงฉบับวันที่30 เมษายนที่ได้ส่งมาโดยผู้ว่าการธปท.ก็ระบุว่าคณะกรรมการกนง.มีความเห็นว่ามาตรการเหล่านี้ก่อนจะนำออกใช้จะต้องมีการพิจารณาถึงผลดีและผลกระทบต่างๆให้รอบคอบ รวมทั้งจะมีการหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไกล้ชิดก่อนนำออกใช้

“ผมได้แสดงความเห็นในส่วนนี้ว่าเป็นแนวทางที่ดีและขอให้ได้มีการหารืออย่างรอบคอบตามเจตนารมย์ของ กนง. อย่างไรก็ตาม คำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากให้ ธปท. กนง. ระบุให้ชัดว่า หมายถึงใครบ้าง และขอยืนยันว่าการดำเนินการในมาตรการนโยบายการเงินต่างๆยังคงเป็นหน้าที่กรอบขอบเขตของธปท. การหารือกับหน่วยงานอื่นอย่างรอบคอบ ก็หวังว่าไม่ใช่เป็นแนวคิดที่จะส่งผ่านความรับผิดชอบออกจากหน้าที่ในการตัดสินใจของตน ดังนั้น คำชี้แจงของผมก็ได้เรียนครม.และได้รับทราบแล้ว      
  
ทั้งนี้ ครม.ได้มีความเห็นว่าให้กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ติดตามสถานการณ์และรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างไกล้ชิด

สำหรับใน 4 มาตรการที่ทาง ธปท. รายงานมายังกระทรวงการคลังนั้น ขอเรียนว่า 4 มาตรการดังกล่าวนั้นมีบางมาตรการที่ทาง ธปท.สามารถใช้ได้เองเลย และใช้ได้แล้วเพราะมีกฎหมายรองรับไว้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ในส่วนที่จะมีการใช้นั้น ธปท.จะมีกลไกในการพิจารณาว่าเป็นขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ว่า ธปท.หรือของคณะกรรมการธปท.หรือของกนง.เป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องไปดำเนินการ ในส่วนที่เป็นมาตรการที่มาตรการบางมาตราที่อยู่ใน 4 มาตรการนี้ยังต้องมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายบางอย่างจึงจะพร้อมใช้ ตนเองได้สอบถามไปว่า หากมีความต้องการพร้อมใช้จริงก็ขอให้เสนอมาได้ และกระทรวงคลังก็พร้อมดำเนินการให้

เมื่อถามว่ามาตรการที่ธปท.เสนอมาเพียงพอหรือไม่ที่จะดูแลค่าเงินบาท รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าเพียงพอถ้าใช้ อย่างเช่นเรื่องของมาตรการดอกเบี้ยแต่ไม่ยอมใช้เสียที  อีกทั้งยังมีบางมาตรการที่ทางธปท.ก็ได้หยิบยกข้อสังเกตเอง ซึ่งตนเองก็เข้าใจเพราะมาตรการทางเศรษฐกิจไม่ว่าเรื่องใดก็มีผลดี ผลเสียควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

“การที่นำไปสู่เรื่องดอกเบี้ยเพราะเราห่วงใยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เราห่วงใยเรื่องเงินที่จะไหลเข้ามาของอัตราดอกเบี้ยและเราห่วงใยเรื่องฐานะการเงินของ ธปท.ที่จะต้องเกิดขึ้นจากการที่ค้ำยันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวดอกเบี้ย แต่ตัวดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งหากดำเนินการตรงนั้นเสียก็ทำให้ได้รับผลบวกสองประการนั้น ผมได้พูดหลายครั้งแล้วว่าในเมื่อความเชื่อต่างกันอำนาจหน้าที่ของธปท.มีไม่ว่าจะโดยกนง.หรือใครในธปท.ท่านเห็นอย่างอื่นมาที่ไม่ใช่มาตรการดอกเบี้ยผมก็พร้อมให้ความร่วมมือ” นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยบรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็มในการพูดคุยหารือกันเกี่ยวกับเรื่องของค่าเงินบาทซึ่งเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดย 4 มาตรการที่ ธปท. เสนอมานั้น เห็นว่า ใน 2 มาตรการแรก คือ ข้อหนึ่งและข้อสอง กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือเสนอความคิดเห็นกลับไปว่า เป็นมาตรการที่ ธปท.สามารถดำเนินการได้เองเลย ส่วนมาตรการที่ 3ต้องมีการแก้กฎหมาย  ส่วนมาตราการที่ 4 ที่เสนอมานั้น ถือว่าเข้มและแรงที่สุดที่ ธปท.เสนอมาว่า เมื่อได้เงินเข้ามาแล้วก็เก็บส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรอง ซึ่งตรงนี้มีการระบุว่า กระทรวงการคลังทั่วโลกไม่มีใครทำ ขณะที่บ้านเราเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนปฏิวัติปี 2549 จนเมื่อปี 2550 เมื่อออกมาตรการนี้มาใช้อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อตลาดหุ้นตกก็ร่วงเลย จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้

“ในวันนี้มีการพูดกันว่า ทุกคนในคณะรัฐมนตรีต่างตกเป็นจำเลยกันหมด ทั้งๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีเลย เนื่องจากเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแห่งประเทศไทยอยู่แล้วที่มีหน้าที่บริหาร แต่ไม่มีหน้าที่ดูแลเรื่องของความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะทำงาน กนง.ที่คณะกรรมการแห่งประเทศไทยได้ให้อำนาจหน้าที่นี้กับทั้ง 5 คนนี้อยู่แล้ว โยนกันไปตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งในภาพรวมประชาชนไม่ทราบ ตอนนี้รัฐบาลอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก แหล่งข่าวระบุ และว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาทิ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ที่มีการพูดถึงในลักษณะเป็นนัยที่ว่า จะดำเนินการกับ ผู้ว่าฯธปท.อย่างไร จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกอาการไม่พอใจอย่างชัดเจน "

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 พ.ค. 2556 เวลา : 17:49:08

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:43 pm