ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปตท.ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมัน 10 - 14 มิ.ย.ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น


ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บมจ.ปตท. สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 3-7 มิ.ย. 2556 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 10-14 มิ.ย. 2556

ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ดังนี้:

น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)         เพิ่มขึ้น 0.93  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 103.30  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)      เพิ่มขึ้น 0.83  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 94.26   เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันดิบดูไบ (Dubai)           ลดลง  0.33  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 99.49   เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันเบนซินออคเทน 95          เพิ่มขึ้น 1.72  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.66  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น้ำมันดีเซล                    ลดลง  0.06  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 116.97  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
          Nexen เผยแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือ Buzzard (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของสหราชอาณาจักรหยุดดำเนินการชั่วคราวเป็นครั้งที่สองในรอบสัปดาห์ หลังจากหยุดดำเนินการเนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิคเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 56 และเพิ่งกลับมาดำเนินการได้ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 4 มิ.ย. 56
          Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน พ.ค. 56 ลดลงมาอยู่ที่ 700,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับก่อนมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกในเดือน ก.ค. 55 ที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ตั้งเป้าว่าจะลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านให้เหลือ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
          กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 56 ลดลง 11,000 รายจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 346,000 ราย
          Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 56 ลดลง 6.3 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 391.3 ล้านบาร์เรล
          ประธานาธิบดีซูดาน นาย Umar al-Bashir สั่งปิดท่อขนส่งที่เป็นเส้นทางส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศซูดานใต้ (350,000 บาร์เรลต่อวัน) ภายหลังพบหลักฐานว่าซูดานใต้ส่งอาวุธให้กลุ่มต่อต้าน Sudan People's Liberation Movement-North (SPLM-N)
          Reuters รายงาน นาย Yukiya  Amana ผู้อำนวยการ International  Atomic Energy Agency (IAEA)  กล่าวถึงการเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ (PS+1) เรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านว่าถึงทางตัน พร้อมกล่าวว่าแม้อิหร่านจะให้เข้าตรวจเขตทหาร Parchin  ก็อาจไม่พบอะไรเนื่องจากอิหร่านได้ทำการกลบเกลื่อนหลักฐานไว้หมดแล้ว
          Markit Economics เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 52.3 จุด
          กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payrolls) เดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 175,000 อัตรา สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
นาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยืดเวลาให้ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ศรีลังกา ตุรกี และ ไต้หวันนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านออกไปอีก 6 เดือน หลังประเทศผู้นำเข้าข้างต้นตกลงลดปริมาณนำเข้าในช่วง 6 เดือนข้างหน้าลงตามข้อกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
         
Reuters Poll รายงานความต้องการน้ำมันของจีน (Implied Oil Demand) เดือน พ.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 55
        
 สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) รายงานยอดขายปลีก (Retail Sales) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน เม.ย. 56 ลดลง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า มากกว่าที่ Reuters poll ประเมินว่าจะลดลง 0.1%
         
บริษัท HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Purchasing Managers’ Index) ในเดือน พ.ค. 56 ปรับตัวลดลง 1.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 49.2 จุด
        
 สำนักสถิติแห่งชาติของจีนแถลง อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคขยายตัวชะลอลงที่ 2.1% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่ราคาผู้ผลิตหดตัวลง 2.9% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 55

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
         
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังการรายงานตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐฯ โดยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 175,000 อัตรา สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 อัตรา ขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 7.6% ด้านนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะยังคงเดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบตามมาตรการผ่อนคลายปริมาณเชิงการเงิน (QE) ต่อไปโดยไม่ลดขนาดการอัดฉีดลง ภายหลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 56 ลดลงเพียงเล็กน้อย ประกอบกับยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non-Farm Payroll) ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 56 ยังขยายตัวไม่เพียงพอต่อการทำให้ FED ตัดสินใจลดวงเงินอัดฉีดได้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของจีนอยู่ในภาวะชะลอตัว จากแถลงการณ์ของสำนักสถิติแห่งชาติของจีน ผลผลิตทางอุตสาหกรรมขยายตัว 9.2% จากปีก่อนหน้า และยอดค้าปลีกขยายตัว 12.9% จากปีก่อนหน้า โดยการขยายตัวข้างต้นต่างชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.1% ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลง 2.9% ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 55

ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้จีนตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้านนักวิเคราะห์คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 2/56 จะต่ำกว่าในไตรมาส 1/56 ทางด้านอุปทานน้ำมันดิบ ซูดานเหนือได้สั่งปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบซึ่งเป็นเส้นทางส่งออกเพียงเส้นทางเดียวของซูดานใต้ ภายหลังพบหลักฐานว่าซูดานใต้ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่กลุ่ม SPLM-N ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในซูดาน

โดยทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงส่งออกน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ภายหลังซูดานใต้หยุดการส่งออกน้ำมันดิบตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 55 ในสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มผู้จัดการกองทุนในตลาด Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ปรับเพิ่มสถานะสัญญาซื้อสุทธิ (Net Long Position) น้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า Nymex ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้น 7,455 สัญญาจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 243,076 สัญญา ทั้งนี้ให้จับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอิหร่านในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ในสัปดาห์นี้น้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านที่ 102.87 – 106.10 เหรียญต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบ WTI มีแนวรับแนวต้านที่ 94.44 – 96.78 เหรียญต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ Dubai มีแนวรับแนวต้านที่ 99.45 - 101.16 เหรียญต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
       
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากปริมาณอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังบริษัท Bharat Petroleum ของอินเดียเข้าซื้อน้ำมันเบนซิน กว่า 400,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน มิ.ย. 56 เพื่อรองรับต่อความต้องการในประเทศ ขณะที่โรงกลั่น Visakhapatnam (60,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมายังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ ทางด้านความต้องการน้ำมันเบนซินในประเทศ ศรีลังกา และประเทศมุสลิมอย่าง มาเลเซีย และปากีสถาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนเข้าฤดูศีลอดในช่วงเดือน ก.ค. 56 ด้านอุปทานบริษัท CPC ของไต้หวันประกาศงดการส่งออกน้ำมันเบนซิน ช่วงเดือน มิ.ย. 56 ตามคาด เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้หน่วย Residue Desulphuriser (RDS) กำลังการกลั่น 30,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านบริษัท Formosa ของไต้หวันประกาศงดการส่งออกน้ำมัน Gasoline ในช่วงเดือน ก.ค. 56 ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันออกเทน 95 จะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 117.43 – 119.14 เหรียญต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล/ น้ำมัน Jet
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงหลัง สิ้นสุดฤดูหนาวในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ ส่งผลให้โรงกลั่นหันมาผลิตน้ำมันดีเซลมากขึ้น ขณะที่ความต้องการน้ำมัน Jet ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของจีนที่อ่อนตัวลง ทางด้าน International Enterprise Singapore ปริมาณสำรอง Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้น 660,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 10.20 ล้านบาร์เรล อีกทั้งความต้องการน้ำมันดีเซลในตะวันออกกลางจะเพิ่มขึ้นสำหรับการปั่นกระแสไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ในสัปดาห์นี้น้ำมันดีเซลจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 117.33 – 119.04 เหรียญต่อบาร์เรล

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มิ.ย. 2556 เวลา : 17:03:48

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:00 pm