ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์วิกฤติงบประมาณสหรัฐฯ กดดันราคาน้ำมัน


"วิกฤติงบประมาณสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจกดดันราคาน้ำมันปรับลด"

น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ พ.ย. ปรับลดลง 0.19 เหรียญฯ ปิดที่ 109.00 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสส่งมอบ พ.ย. ปรับลดลง 0.79 เหรียญฯ ปิดที่ 103.31 เหรียญฯ
 
- ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากการหยุดดำเนินการของหน่วยราชการติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ซึ่งทำให้พนักงานกว่า 1 ล้านคนต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าหากการหยุดดำเนินการของหน่วยราชการที่ยืดเยื้อจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง และคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะลดลง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเช่นกัน
 
- ตลาดมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุก่อการร้ายในสหรัฐฯ จากเหตุยิงรถของผู้ต้องสงสัยบริเวณนอกอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะขับฝ่าแนวเครื่องกีดขวางและมุ่งหน้าสู่อาคารรัฐสภา ในเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 2-3 ราย ซึ่งรวมถึงตำรวจที่ปฏิบัติการขณะนั้นด้วย หลังจากเหตุการณ์ยุติ ผู้ช่วยวุฒิสภาและตำรวจกล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
 
- ดัชนีภาคการบริการของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 54.4 ในเดือน ก.ย. เทียบกับเดือนส.ค. ที่ 58.6 ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 57.4 เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานในภาคบริการปรับตัวลง 
 
- ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1,000 ราย มาอยู่ที่ 308,000 ราย โดยตัวเลขยังคงต่ำกว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2007-2009 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าภาวะการเลิกจ้างงานที่สูงขึ้นได้สิ้นสุดลง
 
+ ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแรงสนับสนุนจากการก่อตัวของพายุโซนร้อน Karen ซึ่งก่อตัวที่อ่าวเม็กซิโก และอาจจะมีกำลังแรงขึ้นเปลี่ยนเป็นพายุเฮอริเคนได้ภายในสุดสัปดาห์นี้ โดยพายุ Karen จะพัดผ่านแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซบริเวณ Louisiana และ Florida Panhandle ซึ่งมีกำลังการผลิตเป็นอับดับที่ 5 ของสหรัฐฯ ทำให้การผลิตต้องหยุดลง รวมถึงมีการอพยพพนักงานที่ทำงานในบริเวณนั้นออกตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา 
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากไต้หวันและอินโดนีเซีย เนื่องจากจะมีการปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินในสัปดาห์หน้า
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากเวียดนามและอินโดนีเซีย ขณะที่อุปทานยังคงทรงตัวจากการลดกำลังการผลิตจากโรงกลั่นต่างๆ และการปิดซ่อมบำรุงในญี่ปุ่น
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 102-108 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ จับตาการแก้ปัญหา Government Shutdown และปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเส้นตายกลางเดือนนี้ รวมถึงติดตามการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันนี้
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันศุกร์: การจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานสหรัฐฯ
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่
วันจันทร์: - 
วันอังคาร: ยอดการค้าระหว่างประเทศ ดัชนีภาคบริการจีน (HSBC Service PMI) รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดนำเข้า - ส่งออกของเยอรมนี
วันพุธ: ยอดค้าส่งสหรัฐฯ และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ 
วันพฤหัส: ยอดนำเข้า-สั่งซื้อ ยอดขายร้านสาขา และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ
วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และความรู้สึกผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนี 
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- โอบามาจะทำให้หน่วยงานราชการของสหรัฐฯ กลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งเมื่อไหร่ และจะแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่มีกำหนดถึงเส้นตายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ได้หรือไม่ ซึ่งหากสหรัฐฯ ไม่สามารถดำเนินมาตรการใดๆ อาจทำให้สหรัฐฯ ต้องผิดนัดชำระหนี้ได้ 
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองของอิตาลียังคงเป็นที่น่าจับตา ว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเอ็นริโกจะมีเสถียรภาพเพียงใด เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อแผนการแก้ปัญหาหนี้ของอิตาลีได้
- จับตาการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียและอิรักว่าจะเพิ่มขึ้นได้ตามคาดการณ์หรือไม่ ภายหลังสถานการณ์ความตึงเครียดภายในลิเบียคลี่คลายลงบ้าง รวมไปถึงอิรักเองที่สามารถซ่อมท่อขนส่งน้ำมันได้
- ติดตามรายงานภาพรวมเศรษฐกิจและทิศทางเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จะออกมาในวันที่ 8 ต.ค. นี้ ซึ่งจะแสดงมุมมองของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในแต่ละภูมิภาค
- ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ต.ค. โดยสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ, EIA (8 ต.ค.) สำนักงานพลังงานสากล, IEA (10 ต.ค.) และโอเปก (11 ต.ค.)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2556 เวลา : 10:57:58

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:40 pm