ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
"เจิมศักดิ์" โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงวุฒิสภา เตือน อย่าเป็นทาส ?สภาโจร?


 
 
 
 
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงวุฒิสภา อย่าเป็นทาส ‘สภาโจร’ ผ่านเฟซบุ๊ก "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
จดหมายเปิดผนึกถึงวุฒิสภา : อย่าเป็นทาส “สภาโจร”
 
เรียนสมาชิกวุฒิสภา
 
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนโกงด้วยวิธีการอัปยศ ใช้เสียงข้างมากลากไป ท่ามกลางปฏิกิริยาสาปแช่งของคนไทยทุกภาคส่วนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาที่จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในลำดับถัดไป
 
ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของประเทศในอนาคต จึงได้ทำหนังสือถึงสมาชิกวุฒิสภา เพื่อพิจารณาไตร่ตรองข้อคิดเห็นบางประการ ดังต่อไปนี้
 
1) สมาชิกวุฒิสภาย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะล้างผิดให้กับคดีอาญา ได้แก่ การฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ ขโมยปล้นทรัพย์ ที่ไม่สมควรจะมีการนิรโทษให้
 
เนื่องจากไปกระทบสิทธิในชีวิตของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อบุคคลถูกฆ่าตาย ถูกวางเพลิงเผาทรัพย์ ถูกปล้นทรัพย์ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเหยื่อผู้ถูกกระทำ รัฐไม่มีอำนาจจะไปยกเว้น นิรโทษหรือลบล้างสิทธิ มิให้มีการสืบสวนดำเนินคดีเอาผิดกับอาชญากรได้
 
2) สมาชิกวุฒิสภาตระหนักดีอยู่แล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ฉวยโอกาสนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตโกงกินต่อแผ่นดิน ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของโลกและของไทยมาก่อนว่าจะมียุคสมัยใดที่รัฐสภาออกกฎหมายล้างผิดให้คนทุจริต
 
ยิ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต และถอดถอนนักการเมืองที่เพียงส่อว่าจะทุจริตทำผิดต่อกฎหมาย สมาชิกวุฒิสภาจึงต้องไม่เห็นชอบกับกฎหมายที่จะล้างผิดให้แก่นักการเมืองทุจริต
 
3) กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีผลให้ลบล้างคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เช่น คดีที่ดินรัชดาฯ คดียึดทรัพย์ 46,300 ล้านบาท คดีทุจริตหวยบนดิน คดีทุจริตรถและเรือดับเพลิง เป็นต้น
 
หากฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ผ่านร่างพระราชบัญญัติในลักษณะนี้ เท่ากับว่าจงใจจะได้ก้าวก่ายอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลการวินิจฉัยคดีของฝ่ายตุลาการ
 
4) กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหลายประเด็น หลายมาตรา
อาจารย์ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่ารับฟัง ความว่า
 
รัฐสภาจะตรากฎหมายเพื่อลบล้างยกเลิกคำพิพากษาของศาลไม่ได้ เพราะเท่ากับไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล เป็นการก้าวก่ายอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ มาตรา 197
 
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน การเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้ลบล้างคำพิพากษาของศาลที่ให้ยึดทรัพย์อันได้มาโดยมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ 46,300 ล้านบาทเศษ เป็นผลให้กระทรวงการคลังจะต้องเอาเงินของแผ่นดินจ่ายให้แก่ทักษิณรวมดอกเบี้ยมากกว่า 57,000 ล้านบาท
 
เมื่อเป็นการจ่ายเงินแผ่นดิน กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 (2) ที่จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อไม่มีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก็ย่อมไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 วรรคสอง
 
ยิ่งกว่านั้น กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ยังเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากนายวรชัย เหมะ ผู้เสนอ เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพราะเป็นผู้ถูกดำเนินคดีกรณีบุกรุกล้มการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา รวมทั้งบรรดาผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในศาล ญาติพี่น้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น การเสนอร่างและการลงมติเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ของ ส.ส.เพื่อไทย จึงเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122
 
5) สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้มีวุฒิภาวะ มีความเป็นอิสระ ไม่ทำตัวเป็นขี้ข้าของใคร ย่อมเล็งเห็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ของพรรคการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติสั่งการ บงการ ของนักโทษหลบหนีคดีทุจริต
 
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ผู้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ตัดแต่งพันธุกรรมจนกระทั่ง “กลายพันธุ์” มาเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ล้างผิดให้คดีทุจริตโกงกินของทักษิณและพวกด้วยนั้น ยอมรับสื่อมวลชนว่า จุดเริ่มต้นในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของเขามาจากการที่เขาได้ไปพบกับทักษิณที่ประเทศฮ่องกง หลังจากนั้นได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปให้ทักษิณที่ต่างประเทศ
 
พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ตอกย้ำว่า บุคคลที่หลบหนีโทษกบิลเมือง ไม่เคารพคำตัดสินของศาล ได้กระทำการร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้สั่งการผ่านพรรคเพื่อไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์และอำนาจของพวกตน ซึ่งน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
 
6) สมาชิกวุฒิสภาย่อมจะต้องได้รับทราบและพิจารณาเห็นกระบวนการเร่งรัด รวบรัดตัดตอน ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยมิชอบ เป็นการใช้อำนาจที่ฉ้อฉล ไร้คุณธรรม ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีภาพลักษณ์อัปยศอย่างที่สุด
 
มีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายที่ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยขยายความครอบคลุมไปถึงคดีฆ่าทหาร ฆ่าประชาชน เผาบ้านเผาเมือง กระทำผิดกฎหมายอาญาแผ่นดินร้ายแรง รวมทั้งคดีของนักการเมืองทุจริตโกงกิน
 
มีการใช้เสียงข้างมากในสภารวบรัดการพิจารณา ปิดปาก ส.ส.ฝ่ายค้าน ตัดสิทธิการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภา
 
และที่อัปยศอดสูที่สุด คือ การที่สภาผู้แทนราษฎรฉวยโอกาสใช้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยในสภารวบรัดตัดตอน ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ให้ผ่านสภาไปในช่วงเวลาที่ประชาชนเจ้าของประเทศกำลังหลับใหล ในเวลาประมาณตีสี่ครึ่ง เป็นการกระทำเยี่ยงโจรยกเค้าบ้านเมือง
 
7) สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่สังคมคาดหวัง ว่าจะเป็นผู้มีวุฒิภาวะสูง เป็นผู้มีอิสระ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจและอามิสสินจ้าง จะต้องรับฟังความอันแท้จริงของประชาชน ตัดสินใจบนฐานของผลประโยชน์ส่วนรวมและรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ-นิติธรรมของบ้านเมือง
 
ขณะนี้ได้เกิดกลุ่มบุคคล สถาบัน สมาคม ชมรมต่างๆ ออกมาแถลงความเห็นว่าไม่เห็นชอบต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างมากมาย
 
สำนักวิจัยต่างๆ สำรวจตรงกันว่าประชาชนต่างไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ดังตัวอย่าง สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “บทบาทของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ร้อยละ 87.2 ไม่เชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นไปเพื่อสร้างความปรองดองของประเทศ เพราะคิดว่าเพื่อผลประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตร
ปวงชนชาวไทยในสภาวะปัจจุบัน คาดหวังในบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา ว่าจะเป็น “เสียงแห่งสติ” ของประเทศ มิใช่มีพฤติกรรมเฉกเช่นสภาผู้แทนราษฎรในยุคปัจจุบัน
 
รัฐธรรมนูญและประชาชนได้ให้อำนาจวุฒิสภาในการกลั่นกรองกฎหมาย กลั่นกรองสติของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ ขนาดในภาวะที่มีการยุบสภาได้มอบหมายให้วุฒิสภามีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ในนามรัฐสภาของราชอาณาจักรไทย
 
สมาชิกวุฒิสภาจึงต้องมีความหาญกล้าที่จะแข็งขืน ทำหน้าที่ “ขัดขวางความไม่ถูกต้อง” แสดงออกให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นถึงวุฒิภาวะ ด้วยการคว่ำกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ เพื่อรักษาความหวังต่อระบบรัฐสภาไทย และรักษาอนาคตทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของนานาอารยะประเทศ
 
แน่นอน ประวัติศาสตร์จะจารึกนามท่านทั้งหลาย
 
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นายสันติสุข มะโรงศรี
4 พ.ย.56

LastUpdate 04/11/2556 09:20:37 โดย : Admin

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:20 am