ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
'ธีระชัย'โพสต์เตือนขรก.-ธ.ก.ส.ตกเป็นเครื่องมือรัฐร่วมกู้1.3แสนล้าน


 

 

 

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค "Thirachai Phuvanatnaranubala" คืนวันพุธ(22ม.ค.)ระบุว่า รัฐบาลจะให้กฤษฎีกาตีความเพื่อกู้ 1.3 แสนล้าน ถามว่าจะทำให้ปลอดภัยจริงหรือ

มีข่าววันนี้ ว่ารัฐบาลจะขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าการกู้ 1.3 แสนล้าน เพื่อจะหาเงินไปจ่ายให้แก่ชาวนา ที่ค้างจ่ายใบประทวนนั้น จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  วิธีการของกระทรวงการคลัง ในการพยายามที่จะกู้ 1.3 แสนล้านครั้งนี้ มีเงื่อนงำหลายประเด็น

ประเด็นแรก
วงเงินดังกล่าว จะใช้วิธีโยกออกมาจากโครงการลงทุนคมนาคมขนส่ง คือรัฐบาลจะให้ชะลอการลงทุนดังกล่าวไปก่อน แล้วจะนำเงินมาใช้ในโครงการจำนำข้าวแทน  วิธีนี้ต้องเรียกว่า จับแพะชนแกะ เรียกได้ว่าจนตรอก จนต้องมั่ว เพราะเป็นการโยก เอารายการที่เป็นการลงทุนระยะยาว ไปดำเนินการเป็นรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายเสียแทน - การทำเช่นนี้ เป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการตั้งวงเงินกู้โดยสิ้นเชิง จากรายการที่เป็นงบดุล ที่เข้าลักษณะเป็นงบลงทุน ไปเป็นรายการบัญชีกำไรขาดทุน ที่เข้าลักษณะเป็นงบประจำ

การทำเช่นนี้ ไม่รู้ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ค่อยเห็นเขาทำกัน ดังนั้น ย่อมไม่เป็นเรื่องปกติ แต่ส่อว่ามีเจตนาแอบแฝงบางอย่าง 

ประเด็นที่สอง วงเงินที่กำหนดเดิมในปี 2554 จำนวน 4.1 แสนล้าน และที่เสนอ ครม. ในวันที่ 3 กันยายน 2556 อีก 2.7 แสนล้าน ก่อนหน้าที่จะมีการยุบสภานั้น ทั้งสองกรณีเป็นวงเงินหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าประสงค์จะให้รัฐบาลขายข้าวออกไป เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในรอบต่อๆ ไป - แต่การกู้ 1.3 แสนล้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินใหม่ 2.7 แสนล้านนี้ กลับไม่ได้คำนึงถึงการขายข้าว เพื่อนำเงินมาหมุนเวียน

 พูดง่ายๆ ถ้าเปลี่ยนไปใช้หลักการว่า ขาดเงินเท่าไหร่ ก็กู้เพิ่มเท่านั้น จะทำให้เป้าประสงค์ที่จะให้รัฐบาลขายข้าว หมดสภาพไปโดยปริยาย - การกู้ 1.3 แสนล้าน โดยไม่กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหา ที่สืบเนื่องมากจากการที่รัฐบาลไม่ยอมขายข้าวออกไป จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการ และไม่ตรงกับเจตนารมณ์เดิมของการอนุมัติวงเงินทั้งสองครั้งดังกล่าว

ประเด็นที่สาม ในการเสนอวงเงินเดิมในปี 2554 จำนวน 4.1 แสนล้าน ได้มีการขมวดไว้ชัดเจน กำหนดเงื่อนไขให้กระทรวงการคลัง ต้องค้ำประกันหนี้ดังกล่าว แก่ ธกส.

แต่ในการเสนอวงเงินใหม่ ในวันที่ 3 กันยายน 2556 อีก 2.7 แสนล้านนั้น ในขณะนั้น ไม่ได้มีการระบุให้กระทรวงการคลัง ต้องค้ำประกันหนี้ดังกล่าว แก่ ธกส. ไว้แต่อย่างใด  ต่อมา คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ ได้มีมติให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ในการที่ ธกส. จะมีการกู้เงิน 1.3 แสนล้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 2.7 แสนล้านดังกล่าว และได้แจ้งให้ ครม. รับทราบ  และต่อมา กระทรวงการคลังได้ทำเรื่องนี้ไปหารือ กกต. แต่ กกต. ได้มีมติ ว่าการดำเนินการข้างต้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใช้ดุลพินิจเอาเอง

 ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในประเด็นนี้ คือ การที่คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ ได้มีมติให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ในการที่ ธกส. จะมีการกู้เงิน 1.3 แสนล้านนั้น คณะกรรมการได้มีมติ ในช่วงภายหลังจากที่ได้มีการยุบสภาไปแล้ว  การกระทำของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ หากสามารถผูกมัด ครม. ได้แบบอัตโนมัติ โดยสมมุติ ครม. ไม่สามารถโต้แย้ง ก็มีผลไม่แตกต่างจาก ครม. เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง - เพียงแต่เนื่องจาก ครม. รักษาการณ์ ไม่สามารถค้ำประกันหนี้ 1.3 แสนล้านให้แก่ ธกส. โดยตรง เพราะกลัวจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ก็เลยเฉไฉ ไปอาศัยให้คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ดำเนินการแทน

 แต่การทำเช่นนี้ เป็นการส่อเจตนาชัดเจน ว่าพยายามจะทำในสิ่งที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้ โดยอาศัยมือของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ - อย่างไรก็ดี หากมีการสอบสวนภายหลัง จะเห็นพิรุธ  เพราะกรณีที่ผ่านมา หากจะให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ก็จะมีการขมวดและระบุไว้ในการอนุมัติโดย ครม.

 แต่กรณีนี้ กลับมีการปฏิบัติที่แหวกแนว กลับไปดำเนินการผ่านคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งไม่เป็นเรื่องปกติ

ประเด็นสุดท้าย รัฐมนตรีคลังแถลงว่า การกู้เงิน 1.3 แสนล้าน ไม่เป็นการที่รัฐบาลรักษาการณ์ ทำให้เกิดหนี้ที่ผูกพันรัฐบาลใหม่ เพราะหนี้มีอยู่เดิมแล้ว  ต้องยอมรับว่าเกษตรกรที่ถือใบประทวนนั้น เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลอยู่แล้ว และหนี้ดังกล่าวก็มีอยู่แล้ว ทั้งต่อรัฐบาลนี้ และต่อรัฐบาลใหม่

 แต่กรณีมีรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลใหม่ไม่ต้องการดำเนินนโยบายจำนำข้าวต่อไปเหมือนเดิม รัฐบาลใหม่อาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการบางอย่างก็ได้ เช่น  รัฐบาลใหม่อาจจะไม่ประสงค์จะใช้เงินกู้ เพื่อชำระใบประทวนก็ได้ แต่อาจจะเน้นใช้เงิน จากการขายข้าวออกไปแทน ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้  รัฐบาลใหม่อาจจะต้องการ ให้มีการตรวจนับสต๊อก หรือตรวจสอบขั้นตอนการรับข้าวเข้าโกดัง หรือตรวจสอบขั้นตอนการบันทึกบัญชี หรือทำเรื่องอื่นใด เสียก่อนที่จะมีการกู้ยืมเงิน 1.3 แสนล้านก็ได้

 ดังนั้น การกู้เงิน 1.3 แสนล้าน จึงอาจจะมีผลเป็นการผูกพันรัฐบาลใหม่ได้ในบางเรื่อง

 ประเด็นสุดท้าย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย  คำตอบสุดท้าย อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น การที่ข้าราชการ หรือผู้บริหาร ธกส. ยอมตัวเป็นเครื่องมือ เข้าร่วมในขบวนการกู้เงิน 1.3 แสนล้าน หากภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิด บุคคลเหล่านี้ ก็จะต้องร่วมรับผิดไปพร้อมกับ ครม.

ข้าราชการจึงควรระมัดระวัง โดยเฉพาะการยกคำถามแก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ถ้าหากไม่พูดข้อเท็จจริงและเบื้องหลังให้หมด อาจจะได้คำตอบที่สนับสนุนรัฐบาล  แต่เมื่อมีการร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีการนำสืบวิธีดำเนินการ ที่ปรากฏว่ามีเงื่อนงำ หรือไม่เป็นไปตามครรลองปกติ ผลการตัดสินอาจจะไม่ตรงกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้

 ยิ่งขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ขั้นตอนการทำงานต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ยิ่งอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแก่ข้าราชการ หรือแก่ผู้บริหาร ธกส. ได้อย่างที่คาดไม่ถึง



 


LastUpdate 23/01/2557 11:50:43 โดย : Admin

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:24 am