ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
"ธีระชัย" อัดรักษาการรมว.คลังยังไม่เลิกคิดกู้ มุ่งสร้างหนี้ให้ธ.ก.ส.8หมื่นล.


 


นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ข้อมูลจาก facebook ของ "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" เมื่อคืนวานนี้ ดังนีั

" ยังไม่เลิกคิดกู้ โต้ง ไวท์ลาย เตรียมสร้างหนี้ให้ ธ.ก.ส. 8 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ตั้งวงซ่องสุมหาช่องทางกู้ใหม่ร่วมกับนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการ รมช.คลัง ซึ่งควบตำแหน่งประธานกรรมการ ธ.ก.ส. และนางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการ รมช.คลัง เพื่อหาเงินมาจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พูดถึงการระดมเงินครั้งนี้ว่าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การให้ ธ.ก.ส.ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(พี/เอ็น) วงเงิน 80,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน ส่วนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ ระหว่างนี้มีการทาบทามไปยังทุนวายุภักษ์ให้มาซื้อพันธบัตรดังกล่าว

วงเงินดังกล่าวจะถูกนำไปจ่ายหนี้ชาวนาฤดูการผลิต 2556/57 ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ติดหนี้ชาวนาทั่วประเทศราว 1.2 แสนล้านบาท

เรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ว่า

1. รัฐบาลยังไม่ลดละความพยายามที่จะกู้เงินมาอุดโกงจำนำข้าว ใช้วิธีแก้ผ้าเอาหน้ารอด ผลักภาระหนี้ให้ตกเป็นของประชาชน ทั้งที่ช่วงสองปีที่ผ่านมาผลาญทั้งเงินภาษี เงินกู้ และเงินหมุนเวียนโครงการไปแล้วไม่น้อยกว่า 7 - 8 แสนล้าน

2. กระบวนการที่กำหนดให้ ธ.ก.ส. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินวงเงิน 8 หมื่นล้าน หมายความว่าให้ ธ.ก.ส.ไปกู้เงินมาให้รัฐบาลใช้จ่ายชาวนา เป็นการผลักภาระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ไม่ใช่ธุระหรือหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ที่จะต้องไปหาเงินมาให้รัฐบาลใช้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกค้า ธ.ก.ส. เพราะภาระโดยตรงในการชำระหนี้ก้อนนี้เป็นของ ธ.ก.ส. อีกทั้งวิธีการนี้ถือเป็นลูกไม้สกปรกของรัฐบาลรักษาการ ที่เลี่ยงรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) ที่กำหนดไม่ให้รัฐบาลรักษาการสร้างหนี้ผูกพัน

3. การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง อาจเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ (1) ขัด รธน.มาตรา 181(3) หรือ (2) เป็นวิธีการเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งข้อนี้จำเป็นต้องให้ผู้รู้ตีความให้แน่ชัด

แต่ที่เห็นชัดเจนอย่างมากคือ ภาระหนี้ทั้งหมดที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กู้ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว และที่กำลังจะกู้เพิ่ม เป็นภาระที่ตกลงบนหัวประชาชน สุดท้ายต้องเอาภาษีไปจ่าย เพราะข้าวที่มีขายอย่างไรก็ไม่พอใช้หนี้ "

ผมขอแสดงความเห็น ดังนี้

ก. หากกระทรวงการคลังค้ำประกันตั๋วเงิน 80,000 ล้าน ให้ ธกส รัฐมนตรีคลังจะฝ่าฝืน ม 181 (3) แน่นอน เพราะจะผูกพันรัฐบาลใหม่

ข. หากไม่ค้ำ รัฐมนตรีคลังอาจจะปลอดภัยจาก ม 181 (3)

แต่ ธกส ขยันขันแข็งผิดวิสัย ออกตั๋วกู้เงินเอง หลีกเลี่ยงการเสนอให้ ครม อนุมัติแบบโปร่งใส และเป็นวิธีการที่ไม่เหมือนเดิม จึงส่อเจตนาต้องการให้มีผลต่อการเลือกตั้ง จะทำให้ทั้ง ธกส และรัฐมนตรีคลังฝ่าฝืน ม 181 (4)

ค. หาก ธกส ขายตั๋วเงินตรงให้แก่ประชาชน โดยไม่มีการประมูล รัฐมนตรีคลังคนใหม่ จะมีปัญหาชำระดอกเบี้ยให้แก่ ธกส เพราะจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ ธกส จ่ายนั้น เป็นธรรมแก่รัฐบาลหรือไม่

ง. หาก ธกส มีความผิดร่วมกับรัฐมนตรีคลังใน ม 181 (4) รัฐมนตรีคลังคนใหม่ อาจจะต้องเรียกให้ ธกส ร่วมกับรัฐมนตรีคลังต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่รัฐบาลใหม่อีกจำนวนหนึ่งด้วย

ผมย้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่าวิธีการกู้นั้น จะผิดกฎหมาย ผมเองคิดหาวิธีกู้ที่ไม่ผิดกฎหมายไม่ออก เว้นแต่จะทำให้สภาพการเป็นรัฐบาลรักษาการณ์หมดไป

วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุด และไม่ผิดกฎหมายใดๆ ก็คือการบูมขายข้าว ครั้งละ 2 ล้านตัน เปิดประมูลระดับอินเตอไปเลย
แต่ไม่เข้าใจ ทำไมไม่เร่งทำ 


LastUpdate 24/02/2557 11:57:04 โดย : Admin

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:03 pm