ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ศาลรธน.มีมติให้ความเป็นรมต.ของ"ยิ่งลักษณ์-ครม.ที่เกี่ยวข้อง"สิ้นสุดลงคดีย้าย"ถวิล เปลี่ยนศรี"


 

ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (7 พ.ค.)คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน ได้ออกนั่งบัลลก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยในคดีคำร้องที่ขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่จากกรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 
องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้3ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา180วรรคหนึ่ง (2)ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่2.การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา268ประกอบมาตรา266(2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา182วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา182วรรคหนึ่ง(7)จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่  

โดยนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ระบุ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและชอบที่จะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย   โดยที่ศาลฯ เห็นว่าแม้จะมีการยุบสภาเมื่อ 9 ธ.ค.56 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีจึงยังไม่สิ้นสุด

ในการพิจารณาประเด็นที่สองว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา268ประกอบมาตรา266(2) หรือไม่   นายเฉลิมพล อ่านคำวินิจฉัยในตอนหนึ่งว่า ผู้ถูกร้องมีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยเป็นผู้อนุมัติให้นำเสนอต่อครม. และผู้ถูกร้องร่วมประชุมครม.และร่วมอนุมัติให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งด้วย และมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้นายถวิล ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ปรึกษาฯนายกฯ มีส่วนกระทำการในเรื่องนี้หลายส่วน หลายประการ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในตอนหนึ่งว่า  ผู้ถูกร้องมีส่วนกระทำการเกี่ยวข้องกับการให้นายถวิลพ้นตำแหน่ง เลขาสมช. โดยมีกระบวนการเริ่มต้นจากสำนักเลขาธิการนายกฯมีหนังสือลับมาก ลงวันที่ 4 ก.ย. 54  

การมีหนังสือในวันหยุดราชการ เพื่อขอความเห็นชอบและยินยอมให้โอนนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมีหนังสือลับมาก ถึงเลขาธิการนายกฯให้นำเสนอนายกฯเป็นวาระทราบจร โดยผู้ถูกร้องเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องเสนอครม.ตามที่นำเสนอ  และวันที่ 6 ก.ย. 54 ครม.มีมติอนุมัติ และผู้ถูกร้องมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นายถวิล ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ปรึกษาฯนายกฯ เป็นการดำเนินการในการขอรับโอน ขอทาบทาม ขอรับความเห็นชอบ และครม.เห็นชอบตามที่เสนอ และการใช้ระยะเวลาเพียง 4 วันแสดงให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการอย่างเร่งรีบ ผิดสังเกต เป็นการดำเนินการโดยรวบรัดปราศจากเหตุผลอันสมควรที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว

การกระทำดังกล่าวเป็นไปในทางเอื้อประโยชน์ มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่ง มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน และซ่อนเร้น ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม มีเหตุให้เชื่อได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง ก้าวก่ายแทรกแซง การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย มีเหตุให้เชื่อได้ว่าการกระทำทั้งหมดของผู้ถูกร้องไม่ได้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใด แต่มีเจตนาแอบแฝง  

เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานประกอบกันแล้ว เห็นว่าการโยกย้ายนายถวิล เชื่อมโยงกับการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ถือได้ว่าผู้ถูกร้องมีการเข้าไปแทรกแซง ก้าวก่าย และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเครือญาติของผู้ถูกร้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268

ศาลฯวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะการเป็นนายกฯไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง ต้องด้วยรธน.มาตรา 266 (2 ) และ (3 ) มีผลทำให้ความเป็นรมต.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว

ผู้ถูกร้องกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 และ 266  ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 วรรค  1 (7) ได้อีกต่อไป

ประเด็นที่สาม ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา182วรรคหนึ่ง(7)จะทำ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่   ศาลวินิจฉัยว่า ครม.ที่มีส่วนร่วมต้องพ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรีด้วย

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้มีการพิจารณา แต่งตั้งนายกฯคนกลางนั้น ศาลรธน.ไม่รับวินิจฉัยการแต่งตั้งนายกฯคนกลาง

สำหรับบรรยากาศที่ศาลได้มีการถ่ายทอดสด ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ขณะที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.นายคำนูณ สิทธิสมาน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา และน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีตส.ว.เพชรบุรี มารับฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

สำหรับองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ประกอบด้วย นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนายบุญส่ง กุลบุปผา  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 พ.ค. 2557 เวลา : 14:08:45

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:26 pm