ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
"วิชา" ป.ป.ช. ปิดสำนวนถอด "ยิ่งลักษณ์" ย้ำรัฐบาลจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต


 วันนี้ (22 มกราคม 2558) เวลา 10.15 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย  ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้เปิดประชุม สนช. โดยมี สนช.ลงชื่อเข้าประชุม 154 ราย จากทั้งหมด 220 รายที่ประชุมได้เริ่มดำเนินกระบวนการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยในวันนี้เป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา

 
ทั้งนี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าวปิดสำนวนในฝ่ายผู้กล่าวหา โดยยืนยันว่า  สนช.มีอำนาจสิทธิขาดเต็มที่ในการถอดถอนทุกประการ ทั้งนี้ นายวิชาได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงที่มาของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นว่า การประกันราคาข้าวของรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา รับประกันในราคาต่ำไม่ช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ จึงนำเสนอโครงการจำนำข้าวซึ่งกำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท เป็นโครงการประชานิยม ใช้การตลาดนำการเมือง ทำให้ชนะการเลือกตั้งการรับจำนำข้าวไมม่ใช่การรับจำนำที่แท้จริง เพราะไม่มีชาวนาคนใดที่จะไถ่ถอนข้าวกลับมา แต่ที่ใช้คำว่ารับจำนำ เพราะไม่ให้รัฐบาลถูกมองว่าเป็นพ่อค้าข้าวกว้านซื้อข้าวจากตลาด ซึ่งขดต่อองค์การการค้าโลก 
 
นโยบายดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้น สร้างให้เกิดกระบวนการทุจริตเชิงนโยบาย กล่าวคือ หลังจากที่ดำเนินการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าตลาดกว่าเท่าตัว จากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ในทุกระดับมีผู้จัดการชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง เล่นแร่แปรธาตุโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง มีความซับซ้อนอย่างยากที่จะตรวจสอบ ซึ่งยอมรับว่าทำการตรวจสอบได้ยากจริงๆ อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. พบว่า มีการระบายข้าวในราคาถูกให้พวกพ้องเพื่อนำไปขายต่อในราคาสูง โดยอ้างว่าเป็นการขายข้าวจากรัฐสู่รัฐ หรือจีทีจี แต่อันที่จริงแล้วเป็นการระบายข้าวให้เอกชนในประเทศเพื่อนำไปขายต่อในราคาสูง ในยุคนายบุญทรง เตริาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่จะไม่ลงในรายละเอียด เนื่องจากมีผู้ขู่มามากหากนำรายละเอียดเรื่องจีทูจีมากล่าวในที่ประชุมนี้
 
เหตุที่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันตลอดมาว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ป.ป.ช. ได้่มีหนังสือแจ้งขอให้ยกเลิกดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการ และเมื่อดำเนินโครงการแล้วก็ยังคงเตือน ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็มีหนังสือเตือนไปยังรัฐบาลถึง 4 ฉบับ เนื่องจากเป็นห่วงการใช้งบประมาณที่ขาดทุนอย่างไม่มีท่สิ้นสุดของรัฐบาล ขณะที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชียังเห็นข้อผิดปกจติ และเตือนว่าเป็นโครงการที่มีความเสี่ยง แต่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ยังคงยืนกรานว่าเป็นสัญญาประชาคม ไม่สามารถเลิกโครงการได้ แม้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะตั้งกระทู้ซักถามและอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ยังยืนกรานว่าเลิกไม่ได้
 
กระบวนการตรวจสอบทุจริตจำนำข้าวของ ป.ป.ช. เป็นการตีแผ่และจับทุจริตเชิงนโยบายที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีการจับทุจริตมามีการกล่าวอ้างว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และมีกลไกป้องกันการทุจริต ด้วยการตั้งอนุกรรมการตรวสอบ แต่การตั้งอนุกรรมการเหล่านั้นก็เป็นเพียงเครื่องบังหน้า และป้องกันผู้ถูกกล่าวหาที่จะอ้างได้ว่าไม่รู้่้ ไม่ทราบ สั่งการไปแล้ว เพื่อให้พ้นการรับผิด และ อ้างว่ามีการแก้ไขแล้ว 
 
"เมื่อ ป.ป.ช. จะกล่าวหาใคร จะต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะถูกหาว่ามีใบเสร็จ ซึ่งในครั้งนี้ขอกล่าวว่า ป.ป.ช. มาพร้อมใบเสร็จ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง เป็นรายงานการปิดบัญชีของอนุกรรมการปิดบัญชี ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการ ที่ดำเนินการตั้งแต่ ปี2554-2557 ก่อนมีการยึดอำนาจ ซึ่งพบว่ามีผลขาดทุนรวม5.1 แสนลานบาท หรือคิดเป็นผลขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท"
 
นายวิชา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ มีความเสียหายจากการจัดเก็บข้าวของรัฐบาล ซึ่งในเดือนมกราคม 2558 นี้เอง รมว.กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินคดีกับเอกชนที่ร่วมในโครงการรับจำนำข้าว ผิดชนิดข้าว ข้าวเสีย ข้าวไม่ได้มาตรฐาน ความเสียหาย 6.5 หมื่นล้านบาท
 
จากความเสียหายในการระบายข้าวขาดทุนและการจัดเก็บข้าวในโกดังและโรงสีดังกล่าว ส่งความเสียหายอย่างไรต่อประชาชนบ้าง เมื่อ 29 ตุลาคม 2557 รมว.กระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่าภาระการใช้หนี้ในโครงการนี้ คาดว่าจะต้องใช้หนี้ขาดทุนจำนำข้าว 7 แสนล้านบาท อาจต้องใช้หนี้นานถึง 30 ปี ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน
 
ในกรณีที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีปิดบัญชีครั้งที่ 1 ซึ่งมีผลขาดทุน 3.2 หมื่นล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้คัดค้าน ส่วนการปิดบัญชีครั้งที่ 2 มีผลขาดทุนสะสม 2.2 แสนล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหาจึงพยายามแย้งว่าคณะอนุกรรมการกระทำโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งมีคำถามว่าหากอนุกรรมการดังกล่าวซึ่งเป็นราชการดำเนินการ หากดำเนินการไม่ถูกต้อง เหตุใดจึงไม่จัดการทางวินัย แต่เหตุที่ไม่ทำ เป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหาตระหนักดีว่าอนุกรรมการดังกล่าวกระทำโดยถูกต้องใช่หรือไม่
 
นอกจากนี้ นายวิชา ยังกล่าวถึงการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อทวงเงินจากโครงการดังกล่าว และมีชาวนาบางรายฆ่าตัวตายดังปรากฏในข่าว ซึ่งเป็นความเศร้าสลด แม้ภายหลัง คสช.จะยึดอำนาจปกครองและสั่งคืนเงินให้ชาวนา แต่ผลของโครงการรับจำนำข้าวยังติดตามไป เพราะยังมีข้าวค้างอยู่ในโกดัง เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องกระเสือกกระสนดำเนินการระบายข้าวทั้งหมด ซึ่งต้องทยอยระบายใช้เวลาหลายปี ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในฤดูกาลที่จะผลิตต่อไป ทำให้พ่อค้ารับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 
 
"ความทุกข์ของชาวนานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ ผู้ถูกกล่าวหาไก็ไม่ได้ออกมาขออภัยต่อชาวนา กล่าวแต่เพียงว่าโครงการนี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวนา จึงอาจกล่าวได้ว่า โครงการรับจำนำข้าวนี้ รัฐบาลผู้ถูกกล่าวหาจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต และสุดท้ายประเทศจำนำหนี้ ป.ป.ช. ขอยืนยันว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบมาตลอด"
 
นายวิชากล่าวด้วยว่า กระผมขอถามทุกท่านว่าโครงการนี้คุ้มค่าและมีประสทิธิภาพตรงไหน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาดำเนินโครงการรับจำนำข้าวแล้ว และมีข้อเท็จจริงรายงานว่าเกิดผลการขาดทุน เสี่ยงต่อการคลังของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงถึงเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องใช้ความกล้าหาญในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องระงับยับยั้งความเสียหายดังกล่าว แต่แทนที่จะระงับต่กลับยืนยบันที่จะดำเนินโครงการต่อ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการดังกล่าว
 
"เรื่องคุณธรรม จริยธรรม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดิน บุคคลที่ไม่มีสติปัญญาแต่หากเขามีคุณธรรม จริยธรรม ก็พอที่จะชดเชยและเยียวยาพอที่จะอยู๋ทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินได้ แต่สำหรับบุคคลที่มีสติปัญญา มีความเฉลียวฉลาด แต่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น กระบวนการในการถอดถอนเป็นการปักธงให้เห็นว่า ผู้ใดก็ตามจะมารับผิดชอบในฐานะผู้นำสูงสุด โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงสุดกว่าบุคคลทั้งปวง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี"
 
พร้อมกันนี้ นายวิชา ได้ฝากไปยังสมาชิก สนช. ด้วยว่า ขอฝากให้การถอดถอนในครั้งนี้ได้เป็นประวัติศาสตร์
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ดำเนินการไต่สวน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในข้อกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ในการดำเนินนโยบายระบบรับจำนำสินค้า เกษตร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือก หอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้รับผิดชอบดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติตามนโยบายนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับ ประเทศ เป็นการทำลายกลไกการซื้อขายตามปกติ มีการทุจริตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในเรื่อง ความชื้น น้ำหนักข้าว การสวมสิทธิ์ ตลอดจนกระบวนการ ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นนตอนการจัดเก็บดูแลรักษาข้าว ขั้ค่าขนส่งข้าว ค่าสีแปร ค่าตรวจคุณภาพข้าว ค่ารมควัน ค่าประกันภัยข้าว และอื่น ๆ และเมื่อมีการระบายข้าว ก็ปรากฏว่ามีขบวนการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว และพยายามกล่าวหาว่า มีการระบายข้าวแบบจีทูจีในหลายประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริง กลับพบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2558 เวลา : 11:25:27

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:52 am