ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์เบรนท์ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 วัน สวนทางกับเวสต์เท็กซัสที่ได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดิบคงคลังที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


 - ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 วัน หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ ที่แข็งค่าต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี  เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และ สูงสุดในรอบ 8 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน เมื่อวานนี้  ซึ่งการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน  อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน  สู่ระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพตลาดที่ยังเต็มไปด้วยอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกิน

 
 
+ น้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบ (Crude options) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนตลาดปิด รวมถึงความกังวลต่อความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบีย หลังจากที่รัฐสภาของลิเบียได้ร้องขอให้สหประชาชาติ (UN) เลื่อนการเจรจาสันติภาพออกไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทของรัฐบาลชุดต่อไป
 
 
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ  (EIA) รายงายตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ณ วันที่ 6 มี.ค.  ที่ผ่านมา โดยน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 4.5 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน  ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 4.4  ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับที่สูงที่สุดในรอบ 80 ปี ที่ 448.9 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.3  ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 51.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี  ปริมาณน้ำมันเบนซินในคงคลังลดลง 187,000 บาร์เรล ในขณะที่ น้ำมันดีเซลในคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล
 
 
+ ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มที่จะพิจารณาการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง  โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือโดยการปรับลดอัตราสำรองเงินสดสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์  (Required Reserve  Requirements) หากดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1 เปอร์เซนต์ โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เมื่อวันที่  1 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ประกาศลดดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว  และรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้เหมาะสมกับแนวโน้มพื้นฐานของทางเศรษฐกิจของประเทศ  โดยธนาคารกลางจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ลง 0.25% สู่ระดับ 5.35% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปี ลง 0.25% สู่ระดับ 2.50% อย่างไรก็ตาม อนาคตของเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หลังตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาต่อเนื่อง 
 
ราคาน้ำมันเบนซิน  ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องในช่วงที่โรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียกำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง  ประจำไตรมาส 2 ของปี ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันเบนซินตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการนำเข้าน้ำมันเบนซินอย่างต่อเนื่องจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักของน้ำมันเบนซินในภูมิภาค
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่โรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง และอุปสงค์จากเวียดนามและฮ่องกง อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังโรงกลั่น Ruwais ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังจะส่งออกน้ำมันชนิดกลาง (Middle Distillates) ได้แก่ น้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยาน  มายังตลาดเอเชียมากขึ้น
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการตอบรับของตลาดต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของ ECB ที่จะเริ่มอัดฉีดเงินมูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือราว 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในวันที่ 9 มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE นี้ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2559 เป็นอย่างน้อย
 
ท่าทีของนักลงทุนต่อกระแสข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการประชุมของธนาคารกลางฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% หรือจะปรับเพิ่มขึ้นจริงตามข่าว
 
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก่อนจะถึงเส้นตายของการวางกรอบการตกลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. นี้  เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จอาจส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
ยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน โดยล่าสุดรัฐบาลกรีซกำลังร่างแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมเสนอต่อยูโรโซน และ IMF ผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขข้อตกลงก่อนขยายเงินกู้ หากแผนผ่านการเห็นชอบ กรีซจะได้รับเงินกู้งวดใหม่ถึง 7,200 ล้านยูโร ซึ่งทำให้กรีซมีเงินเพียงพอในการชำระหนี้ และใช้จ่ายในการบริหารประเทศ
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันอังคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน - ก.พ.
ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน - ก.พ.
วันพฤหัสบดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน - ม.ค.
ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - ก.พ.
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ก.พ.
ความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 12 มี.ค. 2558 เวลา : 11:07:10

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:57 pm