ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ตลาดหุ้นทั่วโลกซบ ดาวโจนส์ ร่วงหนัก 200.19 จุด หวั่นเฟดขึ้นดบ.เร็ว และดัชนีราคาบ้านสหรัฐซบ ขณะตลาดหุ้นยุโรปดิ่ง ผวายูโรโซนเกิดเงินฝืด


 ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดตลาดเมื่อคืน (31 มีนาคม 2558) ปรับตัวลดลงแรง โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,776.12 จุด ร่วงลงถึง 200.19 จุด หรือ -1.11% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,900.88 จุด ลดลง 46.56 จุด หรือ -0.94% , ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,067.89 จุด ลดลง 18.35 จุด หรือ -0.88%

ส่วนตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้เช่นกัน ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.6% ปิดที่ 397.3 จุด , ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปิดที่ 5,033.64 จุด ลดลง 49.88 จุด หรือ -0.98% , ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมัน ปิดที่ 11,966.17 จุด ร่วงลง 119.84 จุด หรือ -0.99% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดที่ 6,773.04 จุด ดิ่งลง 118.39 จุด หรือ -1.72%

ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ การร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ริชมอนด์ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่เร็วขึ้นขณะที่ดัชนีราคาบ้านทั่วสหรัฐ ที่ขยับขึ้นเพียง 4.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกประจำเดือนมี.ค.ขยับขึ้นสู่ระดับ 46.3 จากระดับ 45.8 ในเดือนก.พ.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2552

ในส่วนตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดัน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปหรือยูโรสแตท ระบุอัตราว่างงานยูโรโซนเดือนก.พ.อ่อนตัวลงแตะ 11.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2555 อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานเดือนก.พ.ปรับตัวลงไม่มากเท่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11.2%

นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดของยูโรโซน หลังจากยูโรสแตทเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเบื้องต้นในกลุ่มยูโรโซนอยู่ที่ระดับติดลบ 0.1% ในเดือนมี.ค.

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ภาวะเงินฝืดในยูโรโซนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อบริษัทเอกชนและประเทศต่างๆทั่วโลก มากกว่าการร่วงลงของราคาน้ำมัน เนื่องมาจากเศรษฐกิจยูโรโซนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ยูโรโซนยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดและยังเป็นแหล่งการปล่อยเงินกู้ข้ามพรมแดนที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นประเทศในภูมิภาคอื่นๆอาจจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย หากยูโรโซนเผชิญภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจชะลอตัวลง

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 เม.ย. 2558 เวลา : 10:45:30

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 6:08 am