ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบยังถูกหนี้กรีซกดดัน


บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดัน จากวิกฤตหนี้กรีซที่ยังไม่คลี่คลาย และไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50 - 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 ก.ค. 58)      

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนในวิกฤตหนี้กรีซ โดยจะมีการประชุมผู้นำของกลุ่มผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ทั้ง 28 ประเทศ ในวันที่ 12 กค.เพื่อตัดสินว่าจะให้เงินช่วยเหลือกับกรีซหรือไม่ ประกอบกับคาดว่าการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจจะสามารถตกลงกันได้ โดยใช้การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ในตลาดหุ้นจีนที่คาดว่าจะมี เสถียรภาพมากขึ้น หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการในการช่วยพยุงตลาดหลักทรัพย์ 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- จับตาการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซ  หลังจากผลการประชามติเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนชาวกรีซส่วนใหญ่กว่า 61% ลงประชามติไม่รับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ ส่งผลให้กรีซตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะออกจากกลุ่มยูโรโซน เนื่องจากขาดเงินในการชำระหนี้และธนาคารขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามกลุ่มเจ้าหนี้ยังคงประนีประนอมและเสนอโอกาสครั้งสุดท้ายให้กับ กรีซโดยยืดระยะเวลาในการเสนอแผนปฎิรูปเศรษฐกิจใหม่เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ จากกลุ่มเจ้าหนี้ภายในวันพฤหัสบดีนี้ และกลุ่มเจ้าหนี้จะตัดสินใจในการประชุมกลุ่มผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศในวันที่ 12 ก.ค. ว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือกับกรีซหรือไม่ ซึ่งล่าสุดในวันที่ 8 ก.ค. กรีซได้ยื่นข้อเสนอขอความช่วยเหลือทางการเงินครั้งที่ 3 เป็นระยะเวลา 3 ปี จากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) เพื่อนำไปใช้ในการชำระหนี้และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ โดยคาดว่ากรีซและกลุ่มเจ้าหนี้จะยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ส่งผลให้กรีซไม่สามารถชำระหนี้และขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การออกจากกลุ่มยูโรโซน สร้างความไม่แน่นอนต่อตลาดการเงิน 

 

- ติดตามการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) โดยทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับโครงการ นิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของอิหร่าน แม้ว่าจะมีการยืดระยะเวลาในการตกลงข้อสรุปไปเป็นวันที่ 7 ก.ค. แล้วก็ตาม ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการยืดระยะเวลาอีกครั้งเป็นภายในวันที่ 10 ก.ค. เนื่องจากยังคงติดประเด็นปัญหาเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่ของ IAEA เข้าไปตรวจสอบ และ ประเด็นเรื่องระยะเวลากับขอบเขตของการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ดีกลุ่มชาติมหาอำนาจและอิหร่านจะตกลงกันได้ โดยผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะสั้นการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะมาจากน้ำมันดิบที่เก็บในอยู่ในเรือขน ส่งน้ำมันดิบ และจะเริ่มเพิ่มขึ้นราว 5 - 7 แสนบาร์เรล ในอีกใน 6-12 เดือน 

 

- ติดตามสถานการณ์ของตลาดหุ้นจีนที่ปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 30 นับตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าวันที่ 27 มิถุนายน ธนาคารกลางจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี ลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 4.85 และสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ ?(Reserve Requirement Ratio) สำหรับการปล่อยกู้ภาคการเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและย่อมลงร้อยละ 0.50 แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดให้หุ้นจีนปรับลดน้อยลงได้ ส่งผลให้ในวันถัดมายังต้องมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอาทิ การให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์กว่า 21 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อช่วยพยุงตลาด โดยคาดว่าผลของมาตรการในการพยุงตลาดหลักทรัพย์จีน จะทำให้ตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนลดลง 

 

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 10 ก.ค. 58)

 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 52.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.59 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 58.73 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 58 เหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันหลักมาจากวิกฤติหนี้สินของกรีซ หลังล่าสุดผลการทำประชามติของกรีซ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัดของสหภาพยุโรปและกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ส่งผลให้ IMF ระงับการช่วยเหลือทางการเงินทั้งหมดแก่กรีซจนกว่ากรีซจะชำระหนี้ทั้งหมดได้ อย่างไรก็ดี การที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับลดลง และตัวเลขดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ 

 

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ค. 2558 เวลา : 11:47:12

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:25 am