ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังนักลงทุนคลายความกังวลจากเหตุพายุเฮอร์ริเคน Joaquin


- ราคาน้ำมันดิบวานนี้ได้ปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนได้คลายความกังวลจากเหตุพายุเฮอร์ริเคน Joaquin หลังจากทางการสหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนการพยากรณ์เส้นทางของพายุลูกนี้ใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้พยากรณ์ว่าพายุ Joaquin จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งสหรัฐฯ  ที่ชายฝั่งนิวเจอร์ซีย์ และอ่าวนิวยอร์กซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น 9 แห่งในฝั่งตะวันออก (U.S. East Coast) มีกำลังการกลั่นราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน   โดยศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHC) ได้เปลี่ยนการคาดการณ์ใหม่ว่าพายุจะเคลื่อนตัวเข้าชายฝั่งสหรัฐฯ ห่างออกไป 100 ไมล์ทางทิศตะวันออกของเมืองนิวยอร์กแทน ทั้งนี้ปัจจุบันพายุเฮอร์ริเคน Joaquin มีความรุนแรงในระดับ 3 และคาดว่าเมื่อเข้าฝั่งจะลดระดับลงเป็นพายุโซนร้อน
  

+ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากเหตุความไม่สงบและความขัดแย้งในประเทศซีเรีย ที่มีท่าทีว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากรัฐบาลอิหร่านได้ส่งกองกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าสู่พื้นที่สู้รบ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด  นอกจากนี้ฝูงบินรบของรัสเซียยังได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในหลายจังหวัดของซีเรียเป็นวันที่สอง หลังจากวุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อนุญาตให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ส่งกำลังทหารเข้าซีเรียได้  โดยมีเป้าหมายในการโจมตีกองกำลังติดอาวุธไอซิสในประเทศซีเรีย อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยังคงกังวลว่าเป้าหมายที่แท้จริงของรัสเซีย อาจจะเพื่อสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามของกองทัพสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
  

- ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.2 จาก 51.1 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556  หรือต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมไปถึงอุปสงค์ในต่างประเทศที่ยังคงซบเซาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรของตามภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 33
  

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ  โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อจากประเทศเวียดนามและอินเดีย  ประกอบกับอุปทานที่ตึงตัวมากขึ้นในช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำไตรมาส 4 (Autumn refinery maintenance) ในหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคเร่งผลิตน้ำมันเบนซินเนื่องจากค่าการกลั่นที่ดี
  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มากเกินพอ โดยปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังในกลุ่ม Middle Distillates ณ ประเทศสิงคโปร์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 631,000 บาร์เรลขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 14.6 ล้านบาร์เรลซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

  

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยล่าสุดตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มจะเดินหน้าดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป หลังได้ออกมาเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (Tankan Report) ประจำ   ไตรมาส 3 ของปี 2558 โดยระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ลดลงมาอยู่ที่ +12 จากระดับ +15 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ +25 จาก +23 ในไตรมาส 2 ปีนี้ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ +20 นอกจากนี้
  

ในสัปดาห์นี้มีการคาดการณ์ว่าพายุ เฮอร์ริเคน โจควิน (Joaquin) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ได้ทวีกำลังจากพายุโซนร้อนเป็น เฮอร์ริเคน  ระดับ 3 จะเคลื่อนตัวสู่หมู่เกาะบาฮามาสในมหาสมุทรแอตแลนติก และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ รวมถึง New York Harbor ซึ่งเป็นจุดส่งมอบหลักของน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลในสหรัฐฯ ทั้งนี้ พายุดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายแก่การขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น 9 แห่งในฝั่งตะวันออก (U.S. East Coast) ซึ่งมีความสามารถในการกลั่นราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  

จํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซในสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวลดลง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซในสหรัฐฯ ลดลงอีก 4 หลุม เหลือ 640 หลุม สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 25 ก.ย.58 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. หลังจากที่ลดลงไปกว่า 31 หลุมเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับลดลงด้วยเช่นกัน  โดยลดลงจาก 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากประมาณช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงกลางเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ราว 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อสัปดาห์ล่าสุด ทั้งนี้ สำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้ออกมาเผยคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ในปี 2559 ว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 8.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 190,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 130,000 บาร์เรลต่อวัน

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2558 เวลา : 11:29:09

16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 6:50 pm