ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบยังคงลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน หลังปริมาณสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด


- ราคาน้ำมันดิบเว็สต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 31.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 55  ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมันดิบ
  

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 7.6 ล้านบาร์เรล ไปสู่ที่ระดับ 468.56 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 และสูงกว่าการคาดการณ์ของรอยเตอร์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขจากสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) ที่ปรับเพิ่มขึ้น 9.4 ล้านบาร์เรลในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโอมา ปรับเพิ่มขึ้น 1.13 ล้านบาร์เรล  โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ อยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วงที่อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปอ่อนตัวลงหลังสิ้นสุดฤดูกาลขับขี่ โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังงคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อในสัปดาห์ต่อๆไป เนื่องจากอัตราการกลั่นน้ำมันคาดว่าจะอยู่ในอัตราต่ำ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
  

- ปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกยังอยู่ในระดับสูง หลังปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกในเดือนก.ย.ปรับเพิ่มขึ้น 110,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าตัวเลขคาดกาณ์อุปสงค์ในปีนี้เกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 55 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกิน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบไม่คุ้มค่าต่อ
การผลิต
  

-/+ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอน หลังดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของสหรัฐฯ เดือนก.ย. ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 ตามคาด แต่ลดลงมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 0.1 ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในระยะ 8 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลง โดยในเดือนก.ย. ราคาน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ปรับลดลงร้อยละ 9 อย่างไรก็ดี คาดว่าสหรัฐฯ จะไม่เผชิญกับสภาวะเงินฝืด หลังราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคการจ้างงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งหลังตัวเลขผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานครั้งแรก รายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 10 ต.ค. ปรับตัวลดลงประมาณ 7,000 ราย มาสู่ที่ระดับ 255,000 ราย ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 42 ปี

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงตึงตัว ประกอบกับราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ล่วงหน้าที่อยู่ในระดับสูง หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลด ทั้งนี้ โรงกลั่นในจีนเพิ่มปริมาณการส่งออกในเดือนต.ต. เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนตัว
  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเวียดนาม และแอฟริกา รวมทั้งอุปทานที่ตึงตัวเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียเหนือ สิงคโปร์ อินเดีย และตะวันออกกลาง ที่อยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
  

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  

ตลาดน้ำมันดิบยังคงประสบกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันโลกจะยังคงประสบกับภาวะน้ำมันล้นตลาดจนถึงปีหน้า ในขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่อิหร่านบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจตะวัน (P5+1) เพื่อแลกกับยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแล้วนั้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินเพิ่มขึ้นอีก
  

จับตาท่าทีของธนาคารกลางจีนว่าจะมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดยอดการนำเข้าของประเทศประจำเดือน ก.ย. เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ปรับลดลงเกือบร้อยละ 18 ซึ่งการลดลงของยอดนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่จีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และผู้นำการซื้อขายสินค้าของโลก กำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะเดียวกัน จีนยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของความต้องการในตลาดสำคัญของโลก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาปรับลดลงร้อยละ 1.1
  

อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์อัตราการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. จะชะลอตัวลงราว 93,000 บาร์เรล จากเดือน  ต.ค. เป็นเดือนที่  7 ติดต่อกัน สู่ระดับ 5.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานในสหรัฐฯ บางส่วนชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ
  

ตลาดคลายความกังวลเรื่องประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยรายงานการประชุมของ Fed ประจำวันที่ 16-17 ก.ย. บ่งชี้ว่า Fed อาจจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน โดยระบุว่ากรรมการหลายคนของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเห็นว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น กดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงช่วงขาลง

ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรีย หลังจากรัสเซียปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรียอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เครื่องบินกองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียเพื่อใช้รบขับไล่กลุ่ม IS

 

 

 
               


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ต.ค. 2558 เวลา : 11:28:14

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:00 am