ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงกว่าร้อยละ 2 หลัง IEA เผยน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์


- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 2 ภายในวันเดียว สู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน และนับเป็นการปรับลดลงระหว่างสัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบ 8 เดือน โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาดที่ไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่าปริมาณน้ำมันดิบในคงคลังทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,000 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ประกอบกับอุปทานจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดในปีหน้า (2559)
  

- นอกจากนี้ รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. ของ IEA เผยตัวเลขอุปทานน้ำมันดิบโลกในเดือน ต.ค. ขยายตัวกว่า 2 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สู่ระดับ 97 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียที่ยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในขณะที่ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2559 จะขยายตัวที่ 1.21 ล้านบาร์เรล ซึ่งชะลอตัวลงจากการขยายตัวในปี 2558 ที่ 1.82 ล้านบาร์เรล โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจีน ผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก
  

- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 13 พ.ย.) ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น สู่ระดับ 574 แท่น ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับต่ำราว 40 เหรียญสหรัฐฯ ก็ตาม อย่างไรก็ดี ในรอบ 10 สัปดาห์ ที่ผ่านมาผู้ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะไปกว่า 103 แท่น ซึ่งเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่บ่งชี้ว่าอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า
  

- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยยอดค้าปลีกปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 0.45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีระมัดระวังต่อการใช้จ่าย ในขณะทีกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนี PPI ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มากขึ้น หลังจากโรงกลั่นบางแห่งเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติหลังการปิดซ่อมบำรุงประจำปี ประกอบกับน้ำมันเบนซินในคงคลังของสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้น
  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการจากเวียดนามและทวีปแอฟริกา ประกอบกับปริมาณน้ำมันดีเซลในคงคลังของสิงคโปร์ที่ปรับลดลงมากกว่า 2 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
  

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 41-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  

ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มตะวันตกมากขึ้นหลังจากที่มีการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในเอเชียให้กับรัสเซีย โดยปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดและไม่มีทีท่าจะปรับลดการผลิตลงแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นว่าภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจะยังคงไม่คลี่คลายในเร็วนี้
  

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการส่งสัญญาณว่าจะมีการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดแรงงาน ซึ่งล่าสุดอัตราการว่างงานลดลงแตะระดับร้อยละ 5.5
  

จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อ หลังมีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลากว่า 7 สัปดาห์ติดต่อกัน สาเหตุเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบมีการปิดซ่อมบำรุงและปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังส่วนต่างราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่แคบลง ทำให้มีการหันไปนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลของสต๊อกน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

 

 
                
               


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ย. 2558 เวลา : 11:21:04

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:40 am