ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7-11 ธ.ค.58 และสรุปสถานการณ์ฯ 30 พ.ย. - 4 ธ.ค. 58


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 ธ.ค. – 11 ธ.ค. 58)
  

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดัน หลังกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด นอกจากนั้น อิหร่านที่เตรียมเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบในเร็วนี้หลังจากได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรจากกลุ่มชาติมหาอำนาจ (P5+1) ส่งผลให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินยังคงอยู่ในระดับสูงและกดดันต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 12 สัปดาห์ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 555 หลุมสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 58 โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งจากผลดังกล่าวส่งผลให้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  

ในการประชุมล่าสุดของกลุ่มโอเปกพบว่า โอเปกยังคงเน้นกลยุทธ์ในการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ ซึ่งจากข้อมูลสำรวจล่าสุดโดย Reuters พบว่าปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกในเดือน พ.ย. อยู่ในระดับสูงถึง 31.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้น อิหร่านยังมีการส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 5 แสนบาร์เรลต่อวันโดยทันทีหลังจากที่ได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรและภายหลังจาก 6 เดือนจะมีการเพิ่มปริมาณการส่งออกเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินยังคงไม่คลี่คลายในเร็วนี้และยังคงกดดันราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับต่ำ
  

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าโรงกลั่นจะเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงแล้วก็ตาม เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ย. 58) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 489.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในเดือน เม.ย. 58 ที่ 490.9 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบน้ำมันดิบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นและมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่าร้อยละ 147
  

จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนว่าจะมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมหรือไม่ โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ย. พบว่าดัชนีภาคการผลิตของจีน (NBS PMI) ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ เดือน ส.ค. 55 สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าธนาคารกลางจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมและเพิ่มสภาพคล่องของบริษัท แต่ภาคอุตสาหกรรมของจีนก็ยังคงไม่ฟื้นตัว โดยจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เชื่อว่าในปีหน้าธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงและรัฐบาลอาจจะมีการออกนโยบายการคลังเพิ่มเติม
  

ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 15 – 16 ธ.ค. ว่า FED จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหรือไม่ โดยจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงล่าสุดของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบันที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานลดต่ำลงและอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับร้อยละ 2 ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความพร้อมแล้วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผลดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดดัชนีดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น
  

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดการส่งออกจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน การลงทุนทางตรงของจีน และจีดีพี Q3/15 ยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 พ.ย. – 4 ธ.ค.)

  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 39.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 1.86 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 43 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 38 เหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 10 สัปดาห์ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 489.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศที่สูงมากขึ้น ประกอบกับ อุปทานส่วนเกินในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูงหลังโอเปกคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยจากข้อมูลสำรวจล่าสุดโดย Reuters ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 31.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. นอกจากนั้นราคายังได้รับแรงกดดันจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในเดือน ธ.ค. นี้และค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงเนื่องจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 08 ธ.ค. 2558 เวลา : 11:36:59

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:10 am