ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 28 ธ.ค. 58 - 1 ม.ค. 59 ชี้น้ำมันดิบเบรนท์น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36 - 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เนื่องจากแรงซื้อขายที่เบาบางและอุปทานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 34 – 39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 36 – 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ธ.ค. 58 – 1 ม.ค. 59)

             

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เนื่องจากปริมาณการซื้อขายในช่วงปลายปีที่ค่อนข้างเบาบาง ประกอบกับ ภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดและยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในเร็วนี้ หลังสหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี จากการลงนามยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงอิหร่าน มีแนวโน้มที่จะส่งออกน้ำมันดิบมายังตลาดโลกมากขึ้น หลังจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยืนยันว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาติมหาอำนาจ (P5+1) ในการยุติโครงการนิวเคลียร์เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ลดการนำเข้าน้ำมันดิบในช่วงปลายปี เพราะไม่ต้องการเก็บสต๊อกน้ำมันดิบในระดับสูงในช่วงปลายปี ด้วยเหตุผลทางด้านบัญชี

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
              

จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ว่าจะปรับลดลงหรือไม่ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุดวันที่ 18 ธ.ค. 58) ว่าปรับตัวลดลงมากถึง 5.88 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 484.78 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในประเทศมีการลดการนำเข้าน้ำมันดิบลงในช่วงปลายปี เนื่องจากไม่ต้องการเก็บสต๊อกน้ำมันดิบในระดับสูงในช่วงปลายปี ด้วยเหตุผลทางด้านบัญชี
             

ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ลงนามกฎหมายยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้นมาเท่ากับราคาตลาดโลก โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผลของราคาที่สูงขึ้นเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจในการส่งออกน้ำมันดิบมายังตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งรายงานล่าสุดพบว่าหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หรือ บริษัท Enterprise Products Partners เตรียมที่จะส่งออกน้ำมันดิบลำแรกในเดือนมกราคมนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ
              

ล่าสุดหลังจาก IAEA ยืนยันว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาติมหาอำนาจ (P5+1) ในการยุติโครงการนิวเคลียร์เรียบร้อยแล้ว โดยตลาดคาดว่าอิหร่านจะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3-7 แสนบาร์เรลต่อวันภายในปี 2559 รวมทั้งจะมีการนำน้ำมันดิบและคอนเดนเสตที่เก็บไว้ในเรือขนส่งน้ำมันดิบกว่า 40 ล้านบาร์เรลออกมาจำหน่ายในตลาดโลก ส่งผลให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงไม่คลี่คลายในเร็วนี้
  

กลุ่มโอเปกยังคงรักษาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและไม่มีแนวโน้มจะปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยในรายงานล่าสุดของโอเปกในเดือน พ.ย. โอเปกมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกในปีหน้าจะปรับลดลง 0.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากในปีนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสาเหตุของการปรับลดลงเนื่องจากผลของราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ผลิตปรับลดงบลงทุนและปริมาณการขุดเจาะลง
             

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตจีน และดัชนีราคาสำหรับการใช้จ่ายส่วนบุคคลสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 ธ.ค. 58)

              

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 38.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.01 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 37.89 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 33 เหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณการซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนได้ปิดสถานะสัญญาการซื้อขายในช่วงสิ้นปี นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด เนื่องจากกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังคงระดับการผลิตน้ำมันดิบไว้ในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนเองไว้ รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนนั้นปรับตัวลดลง จากอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติในช่วงฤดูหนาว ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าจำนวนวันสำหรับการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อน (Heating Days)ในปีนี้ลดลงประมาณ 23 -24% จากระดับปกติ
                
               


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ธ.ค. 2558 เวลา : 11:39:07

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:36 pm