ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โฆษกรัฐบาลเผยหนี้ภาคครัวเรือนขณะนี้ทรงตัว


 


วันนี้ (1มี.ค.59)ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนว่า ในช่วงระยะ 8 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ประมาณปี 2550 และ 2551 เป็นต้นมานั้น พบว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 81.1 ของจีดีพี
 
 
 
 
 
 
 
โดยอาจจะเกิดจากมาตรการเรื่องของรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก บัตรเครดิต  แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังและทีมเศรษฐกิจรายงานว่า ณ ขณะนี้อัตราการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนทรงตัวแล้ว ไม่เพิ่มขึ้นสูงเหมือนเช่นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้สินเพื่อความจำเป็นในการดำรงอยู่ของชีวิต เช่น การนำเงินไปซื้อบ้าน ฯลฯ เป็นจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้ที่มีอยู่ ส่วนหนี้ที่จะใช้จ่ายให้เกิดความคล่องตัวนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวระบุรัฐไปนำเงินของธนาคารรัฐมาประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาทและก่อให้เกิด NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กว่าหมื่นล้านบาท นั้น เรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดว่าวงเงินดังกล่าว ธนาคารรัฐได้มีการเตรียมเงินส่วนนี้เอาไว้สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งในจำนวน 8 แสนกว่าล้านบาท เป็น NPL เพียงแค่ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท เปรียบเทียบแล้วประมาณ 1.3% เท่านั้น ทั้งนี้ หากเทียบกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์มี NPL ถึง 2%  ซึ่งตรงนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการบริหารสินเชื่อของธนาคารของรัฐดีกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปด้วย วันนี้ นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ไปทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนที่มีการเสนอและเผยแพร่ข่าวเช่นนี้ ให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดว่าเงินที่นำไปดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพกว่าธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับที่จะไปชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและสังคมเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

 



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 มี.ค. 2559 เวลา : 18:14:31

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:51 am