ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สพฉ.ห่วงภาวะโรคซึมเศร้าพบมากขึ้นเรื่อยๆ


 


 สพฉ. พบปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยผู้หญิงเข้ารับการรักษาด้วยอาการฉุกเฉินมากถึง 4 แสนคน  ห่วงภาวะโรคซึมเศร้า ที่เริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้หญิง พร้อมแนะดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
 
 

 ปัจจุบันมีหลายโรคที่คร่าชีวิตคนไทย โดยเฉพาะผู้หญิงมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นในวันที่ 8 มีนาคมนี้  ซึ่งเป็นวันสตรีสากล  สพฉ.  ได้สรุปสถิติการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในผู้หญิงประจำปี 2558 ซึ่งพบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินผู้หญิงเข้ารับการรักษาผ่านสายด่วน 1669 ทั้งหมด  375,694  คน  โดยอาการที่เข้ารับการรักษามากที่สุด คือ  อุบัติเหตุยานยนต์  314,852 ครั้ง  รองลงมา คือ ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง 266,333 ครั้ง และปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเชิงกราน และขาหนีบ  153,355  ครั้ง

 โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  ได้ให้คำแนะนำ ถึงการป้องกันอุบัติเหตุยานยนต์ว่า  เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ง่ายๆ คือ ต้องไม่ประมาท และที่สำคัญก่อนขับขี่ต้องมีสติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักมีจุดอ่อน คือ ตกใจง่าย ทำให้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น แต่ทั้งนี้หากพบผู้ประสบอุบัติเหตุ ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที  และหากตรวจพบผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ให้รีบสังเกตอาการว่า ผู้บาดเจ็บสับสน ง่วง อาเจียน หรือไม่ หากอาเจียนมากกว่า 2 ครั้ง แสดงว่าอาจมีความผิดปกติ จากนั้นให้ปฐมพยาบาลด้วยการใช้ความเย็นประคบตรงที่บาดเจ็บ และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

 ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเชิงกราน และขาหนีบ หากมีระดับการรู้สติเปลี่ยนแปลงไป ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ระบบหายใจวิกฤต อาทิ ต้องลุกนั่งพิงผนังเพื่อให้หายใจได้  หายใจมีเสียงดังผิดปกติ หายใจเร็วแรง  และระบบการไหลเวียนเลือดผิดปกติ เหงื่อแตกท่วมตัว  วูบหมดสติ ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินทันที

 เลขาธิการ สพฉ. ยังกล่าวว่า นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ในสภาวะสังคมเช่นนี้ ยังมีหลายอาการที่น่าเป็นห่วงและพบมากในผู้หญิง โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตาย ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเทศไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายจัดอยู่ในอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นที่ฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 คือ สวีเดนและสแกนดิเนเวีย  ดังนั้นควรสังเกตผู้ที่อยู่ใกล้ชิดด้วยว่ามีอาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีพฤติกรรม แยกตัวออกจากคนอื่น   มีความสนใจหรือพูดถึงเรื่องความตายหรือไม่ และควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรีบหาแนวทางในการรักษา นอกจากนี้หากพบผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า เครียด และคลุ้มคลั่ง ควรรับฟังผู้ป่วย และพยายามปลอบให้ใจเย็น เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจ ซึ่งจะช่วยคลี่คลายอาการซึมเศร้าได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้หากประเมินว่าไม่ปลอดภัยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือจะดีกว่า   

 “ผู้หญิงควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้มากขึ้น  ทั้งใส่ใจอาหาร การออกกำลังกาย และที่สำคัญต้องตรวจสุขภาพอยู่เสมอ   โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ขึ้นไป  เพื่อจะได้ป้องกัน หรือรักษาได้อย่างทันท่วงที หากตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งทุกคนควรรับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 1 ครั้ง” นพ.อนุชากล่าว

  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มี.ค. 2559 เวลา : 18:56:00

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:37 am