ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แจงกรณีจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินนานาชาติไม่ได้ละเมิดสัญญาสัมปทาน


 นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ชี้แจงกรณีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบินนานาชาติว่า ในนามของสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ขอเรียนให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความถูกต้องจากกรมศุลกากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) ในการเปิด “จุดส่งมอบสินค้า (pick up counter) สาธารณะ” ณ สนามบินนานาชาติ ที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. อันจะนำไปสู่การเปิดเสรีอย่างแท้จริงของธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองนั้น 

 


สมาคมฯ ขอชี้แจงว่า การเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้ถือเป็นการละเมิดสัญญาสัมปทานหรือ   ขอแก้ไขหรือขอยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ผู้รับอนุญาตปัจจุบันได้กระทำกับทอท.แต่อย่างใด ผู้ได้รับอนุญาตเดิมเคยได้รับสิทธิใดๆ ยังคงได้รับสิทธิในสัญญาสัมปทานนั้นเช่นเดิมทุกประการ 

หากแต่การเรียกร้องให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าดังกล่าว ถือเป็นสิทธิอันพึงมีของผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมืองและมีคุณสมบัติครบถ้วน (ตามข้อ 2 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549) เพราะจุดส่งมอบสินค้าดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ไปรับสินค้าที่ซื้อไว้จากร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกแห่ง ก่อนเดินทางออกนอกราชอาณาจักร อีกทั้งยังถือเป็นหนึ่งในทางปฏิบัติของกระบวนการขายและการส่งมอบสินค้าโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมศุลกากร (ตามข้อ 6.3.3 (2) ของประกาศกรมศุลกากรข้างต้น)       

ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้เห็นชอบให้มีจุดส่งมอบสินค้าสำหรับร้านค้าปลอดอากรในเมืองไว้เฉพาะในพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือในพื้นที่ของร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติบางแห่งที่มีสัมปทาน อันมีผลทำให้ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง ไม่สามารถใช้พื้นที่จุดส่งมอบสินค้าที่กรมศุลกากรเห็นชอบไปแล้วได้โดยเสรี  เนื่องจาก ทอท. แจ้งว่า สนามบินไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับเป็นที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้าได้อีก ขณะที่กรมศุลกากรก็ยังคงมีความเห็นว่า จุดส่งมอบสินค้าควรอยู่ในสนามบินนานาชาติ 

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว สมาคมฯ จึงจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมศุลกากร และ ทอท.ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขความเห็นที่ขัดแย้งกันเองระหว่าง กรมศุลกากร และ ทอท. เพื่อทำให้กฎหมายศุลกากรมีผลในทางปฏิบัติ 

สมาคมฯ ขอเรียนอีกครั้งว่า การเรียกร้องของสมาคมฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งหวังให้หน่วยงานรัฐต้องยกเลิกสัญญาสัมปทานใดๆ ทั้งสิ้น และ ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อทำให้ผู้รับอนุญาตรายใดรายหนึ่งต้องเสียสิทธิในสัญญาสัมปทานเดิมแต่อย่างใด

สมาคมฯ เพียงต้องการให้ ทอท. จัดสรรพื้นที่ในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าโดยความเห็นชอบของกรมศุลกากร อันจะมีผลทำให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากร และสามารถเปิดทำการได้จริง (ตามมาตรา 8 ทวิ (1) แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2543)) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือร่วมกันปฏิบัติ จนเป็นเหตุให้กฎหมายศุลกากรไม่มีผลบังคับใช้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน  

สมาคมฯ ต้องการให้จุดส่งมอบสินค้าตามกฎหมายดังกล่าวเป็นพื้นที่หรือจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ที่บริหารโดย ทอท. หรือนิติบุคคลที่เป็นกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกร้านได้เข้าไปใช้บริการอย่างเท่าเทียมกัน โดยจุดส่งมอบสินค้าจะใช้พื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร หรือขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของสนามบินนานาชาติแต่ละแห่ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะตั้งอยู่ส่วนไหนของสนามบินนานาชาติก็ได้ ตามที่ ทอท. จะเห็นสมควรและที่กรมศุลกากรให้
ความเห็นชอบ 

จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่ในกรณีนี้เป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ของสนามบินนานาชาติที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง หากแต่ประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับนั้นมากมายมหาศาล เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น อันมีผลต่อการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก การคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ตลอดจนสินค้าเอสเอ็มอีที่จะผลิตให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองและห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงเกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในที่สุด

การสนับสนุน ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศ (Tourism Business) เป็นนโยบายที่หลายประเทศนำมาใช้ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จริง และในปี 2559 นี้ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณะรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ประกาศที่จะใช้นโยบายดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการดึงเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศจากการช้อปปิ้ง และนี่คือโอกาสที่รัฐบาลจะต้องรีบสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเพียงแค่ทางผ่านของสินค้าปลอดอากรที่นักท่องเที่ยวซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น








 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มี.ค. 2559 เวลา : 11:02:21

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:17 pm