ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนอากาศแปรปรวนระวังป่วยไข้หวัดใหญ่ พบภาคเหนือและกทม. ป่วยสูงสุด


 วันนี้ (24 มีนาคม 2559) นายแพทย์อำนวย   กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2559 จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงได้บางพื้นที่ ซึ่งในช่วงอากาศแปรปรวนเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆได้ง่าย

 

 

โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง กลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยได้ง่ายและอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3.หญิงมีครรภ์ และ 4.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น

 

จากข้อมูล สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วย 33,221 ราย จากทั่วประเทศ เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 7 - 9 ปี (15.1%) 10-14 ปี (12%) และ 25-34 ปี (10.6%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนคิดเป็น 38.6%  ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร พะเยา และ พระนครศรีอยุธยา

          
 โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอ จามรดกัน อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะเริ่มด้วยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ  โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง  อาการจะทุเลาลงและหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบากซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง
 
          
 นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ควรดูแลตนเองด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ กำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดมากับมือ รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้าให้พอเหมาะกับสภาพอากาศ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีคนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์  สวนสนุก เป็นต้น ควรหมั่นทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
         

 สำหรับผู้ป่วย ขอให้พักผ่อนมากๆ และสวมหน้ากากอนามัย แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หรือหยุดทำงาน และให้อยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ที่สำคัญผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กมักป่วยได้ง่ายและบางครั้งเด็กอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2559 เวลา : 10:19:01

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:50 pm