ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์เผยมูลค่าส่งออก ก.พ.59บวก 10.27%,นำเข้าหดตัว16.82%


 กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ก.พ.59 การส่งออกมีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โต 10.27% หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมา 13 เดือน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 14,008 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 16.82% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4,986 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.-ก.พ.) มูลค่าการส่งออกา 34,705 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขยายตัว0.67%มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 29,482 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 14.54%  ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


 
 
 


การส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 13 เดือนจากการขยายตัวของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีแนวโน้มการส่งออกดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านปริมาณที่หลายสินค้ากลับมาขยายตัว อย่างไรก็ดียังคงต้องเฝ้าจับตามองสถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงผันผวนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว 


อย่างไรก็ดีการส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก อีกทั้งข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก นอกจากนี้รายได้จากการส่งออกของไทยในภาคบริการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าบริการในประเทศเติบโตตามไปด้วยได้แก่ โรงแรมร้านอาหาร ขนส่งโทรคมนาคม ค้าปลีกค้าส่ง และตัวกลางทางการเงิน เป็นต้น


 ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ยังคงยึดแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

1.    ขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีนหรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์
จะใช้โอกาสทางการค้า และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

2.    เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven)   หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกในระดับเมือง (City focus) มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) และช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเจาะตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง/เมืองเศรษฐกิจหลัก โดยเน้นสินค้า/บริการแบรนด์ที่มีศักยภาพ 

3.    ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness and Medical Services) ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Industry) ธุรกิจโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Logistics and Facilitation) ธุรกิจการให้บริการของสถาบัน (Institutional Services and Related) ธุรกิจบริการสนับสนุนการค้า (Trade Supporting Services) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Business)

4.    ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ โดยผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึงขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี  สร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน/นักธุรกิจ ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

5.    ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ


 

LastUpdate 25/03/2559 12:02:52 โดย : Admin

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 6:11 pm