ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รมว.เกษตรฯแจงน้ำในเขื่อนมีน้อยแต่พอใช้จนถึงสิ้นก.ค.นี้


 


“ฉัตรชัย”ย้ำแม้น้ำในเขื่อนมีน้อย แต่เพียงพอใช้เพื่ออุปโภคบริโภคถึงสิ้นเดือน ก.ค. วอนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำให้มากที่สุด  และเล่นน้ำสงกรานต์อย่างพอประมาณ เพื่อให้การใช้น้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มั่นใจปริมาณน้ำที่มีอยู่จะใช้ได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 นี้
 
 
 

วันนี้ (28 มี.ค.59) เวลา 14.30 น. พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน  นายสุพจน์  โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง และนายชุมพล โชคพงษ์อุดมชัย รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ และการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 1 กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อทําความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน - เพื่อต้องการให้ทุกท่านทราบว่ารัฐบาลได้บูรณาการแก้ไขวิกฤตอย่างดีที่สุดในทุกวิถีทาง – เพื่อต้องการยืนยันว่าน้ำอุปโภคบริโภคมีเพียงพอถึง ก.ค. 59 - เพื่อขอความร่วมมือรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือน อย่างน้อย 20 %

  สถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดปรากฎการณ์เอลนิโญ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการตั้งแต่ ต.ค. 58 ในรูปแบบคณะกรรมการอํานวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตแล้ง ปี 2558/59 โดยมีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันพบว่า มี 10 เขื่อนใหญ่ที่เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลําปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแม่กวง และ เขื่อนลําพระเพลิง โดยได้สั่งการทั้งการปรับแผนการส่งน้ำ การผันน้ำจากเขื่อนอื่นมาเติม และ การนําน้ำ Dead Storage มาใช้ 

 ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ นั้นได้กำชับและเน้นย้ำให้ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดยในส่วนของพื้นที่ปลูกข้าวนาปี และ นาปรังรอบแรก สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด เหลือแต่นาปรังรอบสอง จํานวน 0.35 ล้านไร่ ซึ่งมี โอกาสเสียหาย แต่จะพยายามบริหารจัดการน้ำอย่างดีที่สุด ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้นปัจจุบันมีประปาสาขาที่เฝ้าระวัง จํานวน 25 สาขา แบ่งเป็น  จ่ายน้ำเป็นเวลา/แบ่งโซนจ่ายน้ำ จํานวน 3 แห่ง  ลดแรงดัน/ลดอัตราจ่าย จํานวน 17 แห่ง และในพื้นที่ที่จะประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ จํานวน 5 แห่ง มีมาตรการแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว 

สำหรับการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแล้ว ได้แก่ การขุดเจาะบ่อบาดาลในภาพรวม ซึ่งตามแผน 6,922 บ่อ ดําเนินการแล้ว 2,687 บ่อ คงเหลือ 4,235 บ่อ การช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58 - 27 มี.ค. 59 (ทั้ง กห., มท., ทส., กษ. และ การประปา ส่วนภูมิภาค) แบ่งเป็น รถน้ำ รวม 546.07 ล้านลิตร ทางการสูบน้ำ 108.89 ล้าน ลบ.ม. การปฏิบัติการฝนหลวง – ช่วงวันที่ 15 ก.พ. - 27 มี.ค. 59 ขึ้นบิน 24 วัน 250 เที่ยวบิน มีฝนตก 31 จังหวัด โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 59 สภาพอากาศเอื้ออํานวย ขึ้นบิน 42 เที่ยวบิน มีฝนตก 15 จังหวัด

 ขณะที่การคาดการณ์ปริมาณฝน National Centers for Environmental Prediction, National Weather Service, NOAA คาดการณ์ปริมาณฝน ช่วงวันที่ 28 มี.ค. - 11 เม.ย. 59 มีแนวโน้มที่ฝนจะตกครอบคลุม ประเทศไทย (คาดว่าสถานการณ์ฝนจะเป็นไปตามที่คาดไว้ คือ ฝนมาเร็ว)

 สำหรับกรณีการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นกระทรวงเกษตรฯ ขอย้ำว่าไม่มีนโยบายที่จะห้ามประชาชนเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการประหยัดน้ำให้มากที่สุด ซึ่งอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีการส่งน้ำตามแผนการใช้น้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จึงขอให้ประชาชนเล่นน้ำกันพอประมาณและประหยัดน้ำให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(28 มี.ค. 59) มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 อีกประมาณ 2,446  ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร 

 ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และหลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอใช้ก่อนฝนมา นั้น ขอเรียนว่าปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไว้อย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนการใช้น้ำร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังจะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคตด้วย


-- 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มี.ค. 2559 เวลา : 16:22:38

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:24 pm