ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม. จัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชในคูคลองเสร็จตามแผนแล้ว 100%


 


วันนี้(30 มี.ค. 59)นายสมพงษ์  เวียงแก้ว   ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เป็นประธานเปิดกิจกรรมเก็บผักตบชวาและวัชพืชเปิดทางน้ำไหลคลองบางชัน จากวัดคู้บอนถึงประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ (ใต้) ความยาวประมาณ 1,000 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่รับน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายณรงค์  เรืองศรี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ผู้บริหารสำนักงานเขตกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 3  กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน ณ บริเวณประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ (ใต้) ถนนคู้บอน เขตคลองสามวา
 
 
 
 
 

กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการระบายน้ำ ได้ดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชในคูคลอง ตามข้อสั่งการเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงเพิ่มพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค. 59  มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 1,161 คลอง รวมความยาวทั้งสิ้น 2,272 กิโลเมตร จากจำนวนคลองทั้งหมดในกรุงเทพฯ 1,682 คลอง ความยาวรวม 2,604 กิโลเมตร
 
 
ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต อีกทั้งกำลังทหาร และอาสาสมัครในพื้นที่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 เป็นต้นมา โดยในวันนี้ สำนักการระบายน้ำ ได้ร่วมกับกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ประกอบด้วย คลองสามวา คันนายาว บางกะปิ บึงกุ่ม ประเวศ มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง และหนองจอก อีกทั้งกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3  กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเก็บวัชพืชและผักตบชวาเปิดทางน้ำไหล จากวัดคู้บอนถึงประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ (ใต้) ทำให้ผลดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ตามเป้าหมาย รวมมีจำนวนผักตบชวาและวัชพืชที่กำจัดได้ทั้งหมด 502,260 ตัน

ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ในส่วนของการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชอย่างยั่งยืน ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของผักตบชวาให้มีความหนาแน่นน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวน้ำ ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เช่น การติดตั้งจุดสกัดผักตบชวา ขุดลอกคูคลอง การติดตั้งเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ
 
 
รวมถึงการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวคลองเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันจัดเก็บวัชพืชและผักตบชวาบริเวณบ้านเรือนของตนเองตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะสามารถลดปริมาณผักตบชวาได้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการปรับภูมิทัศน์ให้คูคลองมีความสะอาด สวยงาม และปลอดภัยแก่ชาวชุมชน รวมถึงเป็นการรักษาระบบนิเวศ และเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำไว้เพื่อการเกษตรในช่งงฤดูแล้งได้อีกด้วย
 

บันทึกโดย : วันที่ : 30 มี.ค. 2559 เวลา : 13:45:39

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:02 am