ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ. ดีเดย์ ล้างส้วมโรงพยาบาลพร้อมกันทั่วประเทศ


 



กระทรวงสาธารณสุข ดีเดย์ ล้างส้วมในโรงพยาบาลพร้อมกันทั่วประเทศ สร้างความมั่นใจส้วมโรงพยาบาลไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เน้น 7 จุดเสี่ยงอันตรายแหล่งแพร่เชื้อ และประเมินผลมอบรางวัลโรงพยาบาลส้วมสะอาด พร้อมกำชับสถานบริการในสังกัดทุกแห่ง คงมาตรการ 3 เก็บบวก 5 ส.ป้องกัน 3 โรคที่มาจากยุงลายอย่างต่อเนื่อง
 
 
 
 

บ่ายวันนี้ (1 เมษายน 2559) ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัด กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดรณรงค์ล้างส้วมในโรงพยาบาลพร้อมกันทั่วประเทศ ว่า  โรงพยาบาลทุกแห่งต้องเป็นตัวอย่างโดยเฉพาะเรื่องความสะอาด  ขอให้ดำเนินการมาตรการ 5 ส. อย่างเข้มข้นและทำอย่างต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่ายๆ คือ ส้วมในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในตึกผู้ป่วยนอกที่มีประชาชน ผู้ป่วย ญาติมาใช้บริการในแต่ละวันจำนวนมาก ต้องสะอาดและเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งจากสถานการณ์ส้วมไทยในปี 2558 ที่ผ่านมาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) 12 ประเภทเป้าหมาย พบโรงพยาบาลผ่านเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 99.08 รองลงมาเป็นห้างสรรพสินค้าร้อยละ 96.18 และส้วมริมทางร้อยละ 78.22

“การล้างส้วมในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ห้องส้วมของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสะอาด เพื่อให้ประชาชนที่มารับบริการพอใจและมั่นใจว่า ส้วมในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่เป็นแหล่งแพร่โรค” นายแพทย์โสภณกล่าว
 

ทั้งนี้ การทำความสะอาดห้องส้วมในโรงพยาบาลจะต้องทำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดทุกครั้ง เน้น 7 จุดเสี่ยงอันตรายที่พบเชื้อโรค คือที่จับสายฉีดน้ำ พื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม/โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ กลอนประตู ลูกบิด พร้อมทั้งให้มีการตรวจและทำความสะอาดห้องส้วมให้สะอาดเรียบร้อยอย่างน้อยวันละ 2 – 6 ครั้ง แนะนำการใช้ส้วมที่ถูกวิธี คือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วมโดยจะประเมินผลการดำเนินงานภายใน 3 เดือน และมอบรางวัลโรงพยาบาลส้วมสะอาด
 

พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับให้ทุกโรงพยาบาลดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยคงมาตรการ 3 เก็บ บวก 5 ส. ป้องกัน 3 โรคที่เกิดจากยุงลาย จากผลการสุ่มสำรวจโรงพยาบาล 170 แห่ง ยังพบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลายร้อยละ 12.35 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่พบสูงถึงร้อยละ 21.95 ส่วนในบ้านพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่สุ่มสำรวจ 66 แห่ง พบลูกน้ำยุงลายร้อยละ 1.31 ลดลงจากร้อยละ 2.6 ในเดือนมกราคม  ซึ่งต้องดำเนินการให้ค่าลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลเป็นศูนย์ทั้งหมด ขอให้เข้มงวดทั้งในบ้านพัก รอบตัวอาคาร และในตัวอาคารโรงพยาบาลด้วย นายแพทย์โสภณกล่าว

       
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 เม.ย. 2559 เวลา : 15:17:01

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:20 am