ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.เกษตรฯเตรียมพร้อม187ตำบลป้องกันในพื้นที่เสี่ยงรับมือน้ำเค็มรุกพื้นที่


 


กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมเกษตรกร 187 ตำบล ป้องกันในพื้นที่เสี่ยงรับมือน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตร ใช้หลัก MRCF วิเคราะห์ พื้นที่ คน สินค้า ร่วมกับหลักของประชารัฐ แนะนำชุมชนต้นแบบที่สำเร็จเป็นแนวทางการรับมือ
 

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนซึ่งเป็นต้นทุนของน้ำจืดด้านการเกษตรมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาก จนสามารถดันให้น้ำเค็มไหลเข้าไปในแม่น้ำหลายแห่งในพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณแถบปากแม่น้ำใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญ 12 จังหวัด มีอำเภอที่คาดว่าจะเสี่ยงภัยต่อน้ำเค็ม จำนวน 40 อำเภอ 187 ตำบล 

 

ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าจีน  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำบางปะกง พื้นที่ทำการเกษตร กว่า 173,888 ไร่ ประกอบด้วย ข้าว ไม้ผล ไม้ดอก และ ผัก น้ำที่มีค่าความเค็มที่สูงกว่าระดับมาตรฐานที่พืชสวน เช่น กล้วยไม้ ส้ม ฝรั่ง ชมพู่ จะสามารถทนอยู่ได้ น้ำเค็มจะทำให้พืชขาดน้ำ มีอาการปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยวเฉา ใบเหลือง หากพืชอยู่ในระยะกำลังเริ่มสร้างช่อดอกหรือผสมเกสรจะส่งผลให้ช่อดอกไม่พัฒนาต่อ ไม่เกิดการผสมเกสร ผลผลิตจะลดลงตามมา หากอยู่ในระยะติดผลจะสลัดลูกร่วงทิ้ง เพราะพืชไม่สามารถนำน้ำที่มีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน (ไม่ควรเกิน 1.2 กรัม/ลิตร และไม่เกิน 0.75 กรัม/ลิตรสำหรับกล้วยไม้) ไปใช้ในการเกษตรเติบโตได้      


 นายโอฬาร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันแก้ไขน้ำเค็มใน 187 ตำบล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ทำให้เกษตรกรรู้วิธีการรับมือด้วยตนเอง และจากความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคีที่ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำเค็ม ส่งผลให้เกิดชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำเค็มในพื้นที่เกษตร เช่น ชุมชนตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นชุมชนที่ต้องประสบปัญหาน้ำเค็มเป็นประจำทุกปี และเกิดวิกฤตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนตระหนักรู้และมีความรู้ในการป้องกันน้ำเค็ม โดย ช่วงก่อน     เกิดภัย ตั้งแต่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ชุมชนมีการใช้เครื่องมือเพื่อวัดค่าความเค็มที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ           

โดยกำหนดเวลาและระดับความลึกของน้ำที่วัดเป็นไปตามมาตรฐานและกระจายข่าวผ่านระบบสมาร์ทโฟน เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบค่าความเค็ม ช่วงเกิดภัย 1) กรมชลประทาน ทำการติดตามสถานการณ์น้ำความเค็มอย่างใกล้ชิด วันละ 2 – 3 ครั้ง 2) เมื่อถึงขั้นวิกฤตแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่สามารถใช้ได้ เกษตรกรจะขอบริการรถบรรทุกน้ำออกให้บริการตามสวน ผ่านสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ 3) เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ใช้สปริงเกอร์หรือระบบพ่นหมอกให้น้ำพืชแทนการใช้สายยางรดน้ำ เพื่อประหยัดน้ำจืด ช่วงหลังเกิดภัย ชุมชนยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าค่าความเค็มจะลดลงสู่ระดับปกติ ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอคำปรึกษาในการป้องกันน้ำเค็มได้ที่สำนักงานอำเภอใกล้บ้านท่าน

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 เม.ย. 2559 เวลา : 06:56:31

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:48 am