ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
IMF เตือนเศรษฐกิจโลกโตต่ำ เสี่ยงสูง ยืดเยื้อ :EIC


 


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)หรือEIC ออกบทวิเคราะห์ หัวข้อIMF เตือนเศรษฐกิจโลกโตต่ำ เสี่ยงสูง ยืดเยื้อ 

Event กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือนเมษายน 2016 ซึ่งมีการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2016 ลงเหลือ 3.2% จากที่คาดการณ์ไว้ระดับ 3.4% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับลดประมาณการทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา รวมทั้งยังเตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น 
 

 
Analysis IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ยกเว้นประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนจะเติบโตได้ 2.4% และ 1.5% ตามลำดับ ลดลง 0.2% จากการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว สำหรับสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและพลังงานที่อ่อนแอลง ขณะที่ยูโรโซนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินฝืด ในส่วนของญี่ปุ่น IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงถึง 0.5% เหลือเติบโต 0.5% ในปี 2016 ซึ่งลดลงมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากค่าเงินเยนที่แข็งค่ามีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการส่งออก นอกจากนี้ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ต่างก็ถูกปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ไม่ถูกปรับลดประมาณการ
IMF มีมุมมองต่อเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น โดยปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจจีนในปีนี้จากเดิม 6.3% เป็น 6.5% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงภาคบริการมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เปลี่ยนมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้ก็ยังสูง และตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง
 
IMF สนับสนุนการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยติดลบทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ (โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ) ของประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ IMF มองว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนอกจากจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม คือ 1. กระตุ้นความต้องการสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และความต้องการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนเพื่อนำไปสู่การใช้จ่ายลงทุนและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ 2. อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงยังทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3. สัดส่วนหนี้เสียลดลง 4. ต้นทุนการตั้งสำรองของธนาคารลดลง และ 5. ธนาคารได้กำไรจากการถือครองตราสารหนี้ 

อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่เกิดขึ้นจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบยังคงต้องติดตาม คือ กำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลง และผลกระทบของธุรกิจประกันภัยและกองทุนบำเหน็จบำนาญที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกันภัยลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้ให้คงที่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพการเงิน
IMF สนับสนุนการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีภาระหนี้รัฐบาลในสัดส่วนที่สูง แต่ IMF มองว่าการใช้นโยบายการคลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ยังพอมีความสามารถเพื่อกระตุ้นการเติบโตและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อหลุดพ้นจากสภาวะการชะลอตัวในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังควรลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่เน้นใช้จ่ายในส่วนที่ส่งผลให้เกิดศักยภาพในการเติบโต เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
 
ความเสี่ยงที่ IMF กังวล คือ ความผันผวนในตลาดการเงิน เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองและก่อการร้าย โดยความผันผวนในตลาดการเงินอาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่และอาจกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ เช่นเดียวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบไปยังการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การก่อการร้ายและปัญหาผู้อพยพในยุโรป

Implication มุมมองเศรษฐกิจโลกของ IMF สนับสนุนมุมมองของอีไอซีว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกทั้งสินค้าและบริการที่ชะลอลงทำให้การส่งออกของไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยภายในประเทศคือ การบริโภคครัวเรือนที่ชะลอตัวจากผลของภัยแล้ง และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ยังต่ำ ทำให้อีไอซียังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโต 2.5% ชะลอลงจาก 2.8% ในปีก่อน
ไทยยังมีจุดแข็งที่สามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดย IMF กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่รับมือกับความผันผวนของเงินทุนไหลออกได้ดีกว่าประเทศอื่นคือ 1. มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2. มีหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศต่ำ และ 3. มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งปัจจุบันไทยมีปัจจัยทั้ง 3 ด้านอย่างครบถ้วน
ภาครัฐควรเร่งดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนหนึ่งที่ IMF มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
 

บันทึกโดย : วันที่ : 18 เม.ย. 2559 เวลา : 19:34:23

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 5:45 am