ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อย. ปรับปรุงการพิจารณาอนุญาตอาหารเพื่อสนับสนุนการส่งออก


 


อย. เผย ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 มีการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตอาหารเพิ่มเติมให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ผลิตอาหารเฉพาะเพื่อการส่งออกไม่ต้องขอเลขสารบบอาหาร ยกเว้นกลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนกลุ่มอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำ อย.จะอนุญาตผ่านระบบ Auto E-submission ทันทีหลังแจ้งตามแบบ สบ.7 เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคธุรกิจ และส่งเสริมเศรษฐกิจ เพิ่มความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร รองรับการขยายตัวในภาคธุรกิจ และให้เกิดความรวดเร็ว โดยมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตอาหารเพิ่มเติมให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ได้แก่ 1) วัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตโดยวิธีแบ่งบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับอาหารไว้แล้ว 2) รอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี ที่ผลิตโดยวิธีแบ่งบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดทะเบียนอาหารไว้แล้ว 3) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ผลิตโดยวิธีแบ่งบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดทะเบียนอาหารไว้แล้ว 4) ไอศกรีมทุกชนิด 5) เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิททุกชนิด
 
 

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ผลิตที่ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกเท่านั้น ไม่ต้องขอรับเลขสารบบอาหาร ยกเว้น อาหารที่มีความเสี่ยงสูง คือ อาหารควบคุมเฉพาะ ได้แก่ ซัยคลาเมต นมดัดแปลงสำหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กวัตถุเจือปนอาหาร อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก สตีวิออลไกลโคไซต์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 
 
 
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบและสังเกตเลขสารบบอาหาร สำ หรับอาหาร ที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น โดยหากพบเลขสารบบอาหาร หลักที่ 9 เป็นเลข 3 หรือ เลข 4 แสดงว่า เป็นอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก ต้องไม่มีวางจำหน่ายในประเทศ และสำหรับผู้ผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่ไม่ต้องแจ้งสูตรส่วนประกอบ เช่น น้ำบริโภค น้ำแข็ง ช็อกโกแลต อาหารกึ่งสำเร็จรูป ชา ชาสมุนไพร ไข่เยี่ยวม้า น้ำผึ้ง ข้าวเติมวิตามิน เนยเทียม เนยผสม ผลิตภัณฑ์เนยเทียม และผลิตภัณฑ์เนยผสม น้ำมันเนย น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมันและไขมัน น้ำเกลือปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เป็นต้น อย. จะอนุญาตผ่านระบบAuto E-submission ทันทีหลังจากที่ผู้ประกอบการแจ้งรายละเอียดตามแบบ สบ.7 ซึ่งช่วยให้การพิจารณาอนุญาตรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 
 

การดำเนินการดังกล่าว ทั้งการมอบอำนาจให้จังหวัดเพิ่มเติม รวมทั้งการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน เป็นมาตรการที่ อย. มุ่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการอนุญาต ขณะเดียวกัน อย.ยังคงประสิทธิภาพในการทำงานโดยเน้นการควบคุมตามความเสี่ยง และเพิ่มการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่วางจำหน่ายในท้องตลาด หากพบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยหรือการกระทำผิด ขอให้ร้องเรียนแจ้งมายังสายด่วนอย. โทร.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นการดำเนินงานของ อย. รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 เม.ย. 2559 เวลา : 11:09:23

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:49 am