ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เริ่มฤดูฝนสัปดาห์ที่ 3 ของ พ.ค.คาดปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน


 


นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กนช. ครั้งที่ 2/59 ภายหลังการประชุม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมกันแถลงผลการประชุมระบุ พ.ค.นี้ สภาพอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ เริ่มเข้าฤดูฝนสัปดาห์ที่ 3 ของ พ.ค.59 คาดจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา ยืนยันกรณีฝนไม่ตกจะมีน้ำใช้ได้ถึง ก.ค.59 จากนั้นจะเข้าสู่ฤดูฝนตามปกติ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อ20เม.ย.โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วย นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
 
 

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการต่าง ๆ และพอใจที่ผลการดำเนินการต่าง ๆ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี ซึ่งในวาระเพื่อทราบที่สำคัญในวันนี้ประกอบด้วยเรื่องสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ในปีนี้ ทั้งเรื่องฝน น้ำที่มีอยู่ ระบบการเกษตร การปลูกข้าว การเตรียมการรับพายุฝนที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่พ้นฤดูแล้งในเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป พร้อมกับรับทราบการจัดการน้ำในต่างประเทศ โดยได้มีการพิจารณาที่จะนำเทคโนโลยีมาตรการเรื่องน้ำของต่างประเทศ เช่น อิสราเอล สิงคโปร์ มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย รวมถึงรับทราบการรายงานแผนและผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำปี 2557-2559 และกรอบการดำเนินงานปี 2560-2569 สำหรับในวาระเพื่อพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาการปรับแผนเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งพิจารณาโครงการผันน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โครงการบรรเทาอุทกภัยเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์ฝนและพายุในปีนี้ว่า เนื่องจากในปี 2559 ประเทศไทยมีอากาศแล้งมาโดยตลอด คาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้สภาพอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ เปลี่ยนจากฤดูร้อนเริ่มเป็นฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะทำให้มีฝนตกในเกณฑ์ใกล้เคียงกับค่าปกติคือมากกว่าปีที่แล้ว และจะมีลักษณะของฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นเดือนกรกฎาคมประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย สำหรับเรื่องพายุ ในปีนี้คาดว่าจะมีพายุเคลื่อนเข้าประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนจำนวน 1-2 ลูกตามเกณฑ์ปกติ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวย้ำในส่วนของปริมาณน้ำปัจจุบันว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีอยู่ทั้งหมดสามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคและใช้สำหรับการเกษตรใช้น้ำน้อย ไม่ใช่เพื่อการปลูกข้าวนาปรัง ยืนยันว่าในกรณีที่ไม่มีฝนตกเลยตั้งแต่นี้ไป น้ำที่มีอยู่สามารถบริหารจัดการใช้ได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ทั้งนี้ ในปีนี้น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 4,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดีจะเกิดการขาดแคลนแน่นอน โดยได้มีการบริหารจัดการขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ปลูกข้าวนาปรังหรือพืชใช้น้ำมาก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ฉะนั้นปริมาณน้ำที่มีอยู่จะสามารถใช้ได้ถึงเดือนกรกฎาคม และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้ยืนยันว่าฝนจะตกปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวกัน ดังนั้นในปีนี้จึงจะหมดปัญหาเรื่องภัยแล้ง และที่ผ่านมาก็ได้รับคำยืนยันจากการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวงว่าตั้งแต่เข้าสู่ฤดูแล้งไม่มีการหยุดผลิตน้ำประปา

ขณะที่อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเป็นห่วงว่าเกษตรกรจะไม่สามารถทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงนี้ได้ ซึ่งขณะนี้มีข่าวดีจากกรมอุตุนิยมวิทยาแล้วว่าฤดูฝนของประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้วางแนวทางไว้ว่าในกรณีที่ฝนตก จะประกาศแนะนำให้เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้ดำเนินการเพาะปลูกก่อน โดยใช้กลไกชลประทานต่าง ๆ ที่มีอยู่ของกรมชลประทานในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เป็นส่วนทดน้ำ กระจายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร 

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ดอน จะต้องขอความร่วมมือว่าเมื่อกรมชลประทานได้มีการทดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำแล้ว ขอให้เกษตรกรพื้นที่ดอนทำการเพาะปลูกหลังเกษตรกรในพื้นที่ลุ่ม เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าในปลายฤดูฝนปีนี้อาจมีฝนตกชุก ฉะนั้นในพื้นที่ลุ่มจะมีความเสี่ยง ซึ่งกรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการทั้งพื้นที่และช่วงเวลาให้เหมาะสม ขณะที่ในพื้นที่ทั่วไป จะแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลคือตามฤดูฝนที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงที่ฝนตกชุก พื้นที่ลุ่มจะเกิดความเสี่ยง กรมชลประทานได้ขออนุมัติหลักการเรื่องการระบายน้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมเสนอแผนในการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงในระยะ 12 ปี รวมถึงขออนุมัติหลักการเพื่อเข้าไปศึกษาทำเส้นทางระบายน้ำคู่ขนานกับวงแหวนแล้ว

นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำยังได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องพื้นที่จังหวัดที่ประกาศการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 20 เมษายน 2559 พื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยเรื่องภัยแล้งปี 2559 มีจำนวน 27 จังหวัด 4,911 หมู่บ้าน คิดเป็น 6.55% ของหมู่บ้านทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าในปี 2558 ที่มีพื้นที่จังหวัดที่ประกาศการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 34 จังหวัด 10,288 หมู่บ้าน รวมทั้งน้อยกว่าในปี 2557 และปี 2556 โดยการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยเรื่องภัยแล้งปี 2559 เป็นการประกาศพื้นที่ที่น้อยที่สุดในรอบ 4 ปี

 

บันทึกโดย : วันที่ : 21 เม.ย. 2559 เวลา : 08:19:03

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 3:06 pm