ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้มประจำสัปดาห์: 25-29 เมย.59 - บมจ.ไทยออยล์


 


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 36 – 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 38 – 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 - 29 เม.ย. 59)
 
 
 
 
         
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26-27 เม.ย.นี้ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 52 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาดที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย หลังจากที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นการคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดียวกับ ม.ค. 59 เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
          
จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 26-27 เม.ย. นี้ ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25-0.50% ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมประจำเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้ โดยผลสำรวจจาก Reuters ในเดือน เม.ย. ที่ชี้ให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 59 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 4 ครั้ง และนักเศรษฐศาสตร์ราว 60% (54 ใน 81 คน) คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี ทั้งนี้ หาก Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบน้อยลง 
         
 
 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ (วันที่ 8 เม.ย.) ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วกว่า 4% สู่ระดับ 8.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบได้ชะลอการลงทุนและผลิตน้ำมันดิบลง สาเหตุจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 15 เม.ย.) ปรับลดลงอีก 3 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 351 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 52
 
         
 ภาวะอุปทานล้นตลาดยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย หลังจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก (ยกเว้นอิหร่าน) ที่จัดขึ้น ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ได้เสร็จสิ้นลง โดยที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นการคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดียวกับ ม.ค. 59 เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ โดยซาอุดิอาระเบียยืนกรานว่าจะไม่คงกำลังการผลิตไว้ที่เดือน ม.ค.59 หากอิหร่านยังไม่ยอมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของกาตาร์กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกจะหารือร่วมกันในการประชุมโอเปกวันที่ 2 มิ.ย. อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำ 
         
 
ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือน เม.ย. ซึ่งมีการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 59 ลงเหลือ 3.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.4% ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับลดประมาณการทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ และกำลังพัฒนา รวมทั้งยังเตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ความผันผวนในตลาดการเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวเร็วกว่าคาด รวมถึงปัจจัยด้านการเมือง และก่อการร้าย โดยความผันผวนในตลาดการเงินอาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ และอาจกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ เช่นเดียวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลกระทบไปยังการค้าโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 
 
         
 ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคบริการ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก จีดีพีไตรมาส 1/59 รายจ่ายในการบริโภคของบุคคล และรายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 - 22 เม.ย. 59)
         
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 43.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.01 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 45.11 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ที่ปรับตัวลดลง 248,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของคูเวตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ประท้วงของคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมันได้คลี่คลายลงแล้ว 


โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 25 เม.ย. 2559

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2559 เวลา : 07:18:07

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:26 am