ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ผลปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาหมอกควันและภัยแล้ง


 


กระทรวงเกษตรฯ เผยผลการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและภัยแล้ง ย้ำเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เมื่อพร้อมเตรียมขึ้นบินทันที

 
 
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เตรียมความพร้อมในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและหมอกควันในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วงชิงโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวง
 
 

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง(ระยะที่ 2) และแผนการบรรเทาหมอกควันและไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 รวมทั้ง ได้จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 2 แห่ง ณ จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา

ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 21 เมษายน ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลกได้ติดตามสภาพอากาศและขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่แล้งวิกฤติและพื้นที่ร้องขอรับบริการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงแล้วทั้งหมด จำนวน 19 วัน มีฝนตก 17 วัน จำนวนเที่ยวบิน 68 เที่ยวบิน เกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง และหนักบางบริเวณในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ด้าน นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดัดแปรสภาพอากาศ จะทำเมื่อไม่มีโอกาสของการทำฝน มุ่งเน้นช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่เสี่ยง 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยสารละลายยูเรียช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ และช่วยดูดซับฝุ่นควันในบรรยากาศโดยตรง รวมทั้งเพิ่มปริมาณเมฆให้ช่วยดูดซับฝุ่นควันเข้าไปภายในก้อนเมฆได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งผลจากการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ พบว่า ช่วยให้ฝุ่นควันระดับปฏิบัติการจางลงระยะหนึ่ง และสำหรับวันที่มีเมฆคิวมูลัสขนาดเล็กก่อตัวช่วยเพิ่มปริมาณเมฆและความหนาแน่นของเมฆมากขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งการทำให้ฝนตกซึ่งช่วยชะล้างฝุ่นละอองในบรรยากาศ ซึ่งได้ปฏิบัติการไปแล้วทั้งหมด 24 วัน จำนวน 75 เที่ยวบิน บริเวณพื้นที่วิกฤติที่มีค่า PM10 เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน รวมทั้งได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ช่วยควบคุมไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 วัน (ในวันที่ 24 และ 31 มีนาคม 2559)

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เปิดโครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ในช่วงวันที่ 21 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2559 โดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท (กองทัพอากาศ) จำนวน 2 เครื่อง พร้อมพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 500 นัด เพื่อปฏิบัติภารกิจฝนหลวงในเมฆเย็นและป้องกันไฟป่า ปัญหาหมอกควัน ทั้งนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 6 วัน (วันที่ 27 มีนาคม วันที่ 1, 8, 9, 18 และ 19 เมษายน) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และสุโขทัย

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเหนือได้มีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสมเอื้ออำนวย ทั้งในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นและเมฆเย็น และปฏิบัติการสลายพายุลูกเห็บตามโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและปัญหาภัยแล้งตามเป้าหมายที่วางไว้ นายเลอศักดิ์ กล่าว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 เม.ย. 2559 เวลา : 13:16:39

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:26 am