ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม.เผย19 จุดอ่อนน้ำท่วมบนถนนสายหลักยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ


 


วันนี้(27 เม.ย.59) นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เป็นประธานการประชุมติดตามแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม ประจำปี 2559 โดยมี นายอดิศักดิ์ ขันตี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขต และกรมราชทัณฑ์ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักการระบายน้ำ ชั้น 3 ศาลาว่าการกทม. (ดินแดง)

 
 
แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมคืบหน้า เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฝน

สำนักการระบายน้ำได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม ประจำปี 2559 ดังนี้ ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ  ทั้งส่วนที่เป็นจุดอ่อนและทั่วไปในพื้นที่ 50 เขต ความยาวท่อ เป้าหมาย 3,730 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 2,154 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 58   ขุดลอกคูคลอง เป้าหมาย 101 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 39 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 38 เปิดทางน้ำไหล 1,296 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 999 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 77 นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมกระสอบทรายประมาณ 4.5 ล้านใบ เพื่อใช้จัดทำเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวในพื้นที่จุดอ่อน และสำรองกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำและสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

19 จุดอ่อนน้ำท่วมบนถนนสายหลัก ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

สำหรับปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมที่ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษบนถนนสายหลักมีจำนวน 19 จุด ได้แก่ 1.ถ.แจ้งวัฒนะ จากวงเวียนหลักสี่ ถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 2.ถ.แจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงซอยศูนย์ราชการ 3.ถ.รัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ 4.ถ.ประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน 5.ลานพระบรมรูปทรงม้า ฝั่งสวนอัมพร 6.ถ.ราชวิถี ช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิต และเชิงสะพานกรุงธนบุรี 7.ถ.พญาไทย ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ 8.ถ.ศรีอยุธยา ช่วงหน้า สน.พญาไท 9.ถ.สนามชัย จากซอยเศรษฐการ ถึงถ.ท้ายวัง และรอบสนามหลวง 10.ถ.เจริญกรุง จากถ.แปลงนาม ถึงแยกหมอมี 11.ถ.เยาวราช ฝั่งเหนือ จากถ.ทรงสวัสดิ์ ถึงถ.ราชวงศ์  12.ถ.จันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงไปรษณีย์ยานนาวา 13.ถ.สวนพลู จากถ.สาทรใต้ ถึงถ.นางลิ้นจี่ 14.ถ.สุวินทวงศ์ ช่วงคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ 15.ถ.ฉิมพลี จากถ.บรมราชชนี ถึงทางรถไฟสายใต้ 16.ถ.เพชรเกษม บริเวณแยกพุทธมณฑลสาย 2 ถึงปากซอยเพชรเกษม 63 17.ถ.บางบอน 1 จากถ.เอกชัย ถึงคลองบางโคลัด 18.ถ.บางขุนเทียน จากถ.พระรามที่2 ถึงถ.บางขุนเทียนชายทะเล และ19.ถ.ประชาอุทิศ จากคลองรางจาก ถึงหน้าสำนักงานเขตบางบอน ในส่วนของจุดอ่อนน้ำท่วมบริเวณซอยย่อย ชุมชน และหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ 50 เขต จากเดิมมีจุดอ่อนน้ำท่วม 287 จุด ลดเหลือ 254 จุด

 
 
 
 
 
เตรียมหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่ม พร้อมกำชับเขตตรวจสอบความแข็งแรงป้ายโฆษณาหวั่นพายุลมแรง

รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้เป็นการประชุมติดตามการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมถึงน้ำท่วมขัง ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานเขตเร่งหาพื้นที่รับน้ำทั้งในที่ดินเอกชนและราชการอีก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง อีกทั้งยังจะเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝนอีกด้วย รวมถึงแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยกำชับให้สำนักการโยธาและสำนักงานเขตตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ อีกทั้งเตรียมจัดหากระสอบทราย 4.5 ล้านใบเพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ต่างๆ และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติการหากเกิดฝนตกหนัก พร้อมกันนี้ขอแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้อยู่ใต้ต้นไม้หรือป้ายโฆษณาในช่วงที่มีพายุลมแรงด้วย

ของบรัฐบาลแก้ปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วม พร้อมสั่งเขตสำรวจจุดอ่อนในซอยย่อย ชุมชน และหมู่บ้านเพิ่มเติม

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมบนถนนสายหลัก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 19 จุด นั้น กทม.ได้เสนองบประมาณไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาโดยการขยายท่อระบายน้ำบริเวณดังกล่าวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับน้ำฝน นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนน้ำท่วมบริเวณซอยย่อย ชุมชน และหมู่บ้าน รวม 254 จุด ซึ่งระหว่างที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ได้กำชับให้สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้สั่งการให้สำนักงานเขตตรวจสอบจุดอ่อนน้ำท่วมทั้งในพื้นที่สาธารณะและที่ดินเอกชนเพิ่มเติม เพื่อเร่งแก้ไขและให้ความช่วยเหลือต่อไป  เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ลักษณะพื้นที่ทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไป

ค่าความเค็มของน้ำยังไม่กระทบแหล่งผลิตน้ำประปา

สำหรับค่าความเค็มของน้ำที่เกิดขึ้นในขณะนี้ บางจุดมีค่าความเค็มสูงจนไม่สามารถน้ำมาใช้เพื่อรดน้ำให้พืชหรือภาคการเกษตร  เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่สามารถระบายน้ำเพื่อเจือจางค่าความเค็มได้ ซึ่งกทม.ได้ผลักดันในการนำน้ำบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียมาใช้เพื่อรดน้ำต้นไม้และช่วยเหลือพื้นที่เกษตร อย่างไรก็ตามค่าความเค็มยังไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา
 
 
ทั้งนี้จากสถิติปริมาณฝนเดือนเม.ย.58 มีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 136-138 มิลลิเมตร แต่ในเดือนเม.ย.59 ค่าปริมาณน้ำฝนยังคงเป็นศูนย์ เนื่องจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือฝนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนถึงสิ้นเดือนพ.ค.59 แล้ว


รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวแสดงความขอบคุณสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขต ในการดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาเพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ตามเป้าหมายและเวลาที่กำหนดตามนโยบายของรัฐบาล แม้ว่าจะจัดเก็บผักตบชวาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังคงมีผักตบชวาเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการจัดเก็บต่อไป รวมถึงหาแนวทางในการกำจัดผักตบชวาอย่างยืนด้วย

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 เม.ย. 2559 เวลา : 17:59:20

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:50 am