ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม. ทำลายวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบหยอด ชนิด 3 สายพันธุ์


 


วันนี้(27 เม.ย.59) พ.ญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการเก็บกลับ และทำลาย trivalent OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบหยอดชนิด 3 สายพันธุ์ โดยมีผู้แทนขององค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม ณ สถานีเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (โรงเผาขยะอ่อนนุช)

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนการเก็บกลับและทำลาย trivalent OPV กรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานว่า ด้วยที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกมีมติร่วมกันและประกาศยุทธศาสตร์การกวาดล้างโรคโปลิโอ พ.ศ. 2556–2561 และประเทศไทยได้ร่วมมือกับนานาชาติในการกวาดล้างโปลิโอให้หมดไปตามมติดังกล่าว
 
 
 
 
 
โดยกำหนดมาตรการสำคัญ คือ การกำจัดเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 ในวัคซีนออกเป็นลำดับแรก เนื่องจากเชื้อดังกล่าวมีการกลายพันธุ์และก่อโรคทำให้เกิดการระบาดในบางประเทศ และเชื้อก่อโรคตามธรรมชาติชนิดที่ 2 ได้หมดจากโลกนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็น ต้องใช้ไวรัสวัคซีนชนิดที่ 2 อีกต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 ถูกทำลายหมดสิ้นและไม่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องเก็บกลับวัคซีน trivalent OPV ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 จาก ทุกหน่วยบริการที่มีวัคซีน trivalent OPV รวมถึงคลังวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม และเผาทำลายด้วยเตาเผาขยะติดเชื้อ โดยมูลฝอยติดเชื้อจะถูกเผาไหม้ที่ห้องเผาที่ 1 อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส ส่วนควันที่เกิดจากห้องเผาที่ 1 จะถูกส่งไปกำจัดที่ห้องเผาที่ 2 อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบบำบัดอากาศ 3 ขั้นตอน คือ หม้อต้มน้ำ (Boiler) หอลดกรด (Water Spray System) และถุงกรองไดออกซิน (Bag Filter and Dioxin Removal) ก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ ซึ่งการขับเคลื่อนเพื่อกวาดล้างโปลิโอครั้งนี้ ทุกจังหวัดของประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกต่างดำเนินการในช่วงเวลาเดียวกัน
 

สำหรับการดำเนินการเก็บรวบรวม trivalent OPV ของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 431 แห่ง ระหว่างวันที่ 24 –26 เม.ย. 59 จำนวนวัคซีนที่เก็บกลับได้ 4,914 ขวด จากองค์การเภสัชกรรม จำนวน 30,154 ขวด รวมจำนวนทั้งสิ้น 35,068 ขวด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยบริการมากที่สุดในประเทศไทย ต้องมีการเตรียมการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีเพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์

ด้าน พ.ญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้านของประเทศและภูมิภาคจึงได้ให้ความสำคัญกับการกวาดล้างโรคโปลิโอร่วมกับนานาชาติทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ปลอดโรค ปลอดภัย สอดรับกับนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งความปลอดภัย และมหานครแห่งความสุข ตั้งแต่ปี 2540 ไม่พบผู้ป่วยโปลิโออีกเลยจนถึงปัจจุบัน และวัคซีนโปลิโอชนิดที่ 2 ไม่ได้ใช้แล้ว ปัจจุบันมีการนำวัคซีนโปลิโอแบบฉีดมาใช้แทน โดยจะยังมีการติดตามว่ายังมีวัคซีนหลงเหลืออีกหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเก็บกลับวัคซีนเพื่อทำลายได้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งจะมีการประกาศความสำเร็จในการดำเนินการอย่างเป็นทางการพร้อมกันในวันที่ 13 พ.ค. 59

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 เม.ย. 2559 เวลา : 18:37:46

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:35 am