ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มท.สั่งจังหวัดกำชับทุกหน่วยเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยแหล่งน้ำ


 


วันนี้ (28 เม.ย. 59) ที่กระทรวงมหาดไทย นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับการประสานจากกรมควบคุมโรค ว่าปัจจุบันพบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ โดยพบว่าในทุกๆ 8 ชั่วโมง จะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 1 คน และจากสถิติข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปีพ.ศ.2549-2558) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตแล้วกว่า 10,923 คน โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเกือบ 400 คน และแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อขุดเพื่อการเกษตร เป็นสถานที่ที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งจากมูลเหตุดังกล่าว ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยในเรื่องการจมน้ำเสียชีวิตของเด็ก และได้เน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือน การทำเครื่องหมาย และการทำที่กั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ

 
 
กระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัด แจ้งให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน/หมู่บ้านทุกพื้นที่ ดำเนินการตามแนวทางและมาตรการในการป้องกันเด็กจมน้ำ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย ดังนี้ 1.แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร/แหล่งน้ำชุมชน ให้มีการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน ป้ายบอกระดับความลึกของน้ำ พร้อมมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ชูชีพ หรือแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ไม้ และนกหวีดหรือระฆัง สำหรับใช้ขอความช่วยเหลือไว้ที่บริเวณแหล่งน้ำ
 
 
2.แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือสระว่ายน้ำ ต้องมีเจ้าหน้าที่ (Lifeguard) คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้บริการ และมีกฎระเบียบให้ผู้มารับบริการต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ และห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีการแบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำติดตั้งไว้เป็นระยะ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งต้องมีป้ายแจ้งเตือนและป้ายบอกระดับความลึกของน้ำด้วย
 
 
3.ให้มีการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในชุมชนทราบถึงอันตรายและวิธีการป้องกันการจมน้ำ สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ใช้คอกกั้นเด็ก หรือกำหนดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก (Playpen) 4.ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในห้องน้ำ และแหล่งน้ำโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ 5.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคการศึกษา สนับสนุนให้เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง
 
 
และ 6.ให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่มีการบูรณาการสร้างทีมเครือข่ายผู้ก่อการดี (Merit Maker)ในลักษณะการรวมตัวของกลุ่มคนหรือหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา หรือประชาชนทั่วไป เพื่อรวมกันดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามบทบาทภารกิจของหน่วย ในรูปแบบสหสาขา และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ อย่างน้อยตำบลละ 1 ทีม

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันการจมน้ำของเด็ก ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อวางมาตรการหรือวิธีป้องกัน โดยหน่วยงานในพื้นที่สามารถพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทั้งในระดับชุมชนหรือระดับครอบครัว รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อม และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การป้องกันและช่วยเหลือมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียชีวิตจากการจมน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังของชาติต่อไป.






 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 เม.ย. 2559 เวลา : 17:39:01

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:54 pm