ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ธ.ก.ส.ดูแลเกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้งเติมเงินเข้าระบบกระตุ้นฐานรากกว่า 115,000 ลบ.


 ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้ง ปีบัญชี 2558 ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรกว่า 1.28 ล้านราย วงเงิน 1.67 แสนล้านบาท ยันสถานะแข็งแกร่ง สินเชื่อขยายตัว 115,890 ล้านบาท เงินฝากเพิ่ม 76,987 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,905 ล้านบาท ระบุปีบัญชี 2559 มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 SME เกษตร และโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีบัญชี 2558  ( 1เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559) ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบทได้เพิ่มขึ้น 115,890  ล้านบาท ส่งผลให้ยอดรวมสินเชื่อคงเหลือเป็น 1,205,654 ล้านบาทหรือขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 10.63  มียอดเงินฝาก 1,310,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76,988 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 6.24
 
 
ทำให้มีสินทรัพย์ ณ สิ้นปีบัญชี 2558 ทั้งสิ้น 1,507,314 ล้านบาท  โดย ธ.ก.ส. มีกำไรสุทธิ จำนวน 8,905 ล้านบาท และมีสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio เท่ากับร้อยละ 11.47 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้นำเงินปันผลส่งเป็นรายได้เข้าคลัง จำนวน 3,595 ล้านบาท และส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 1,665 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 0.18 ของยอดเงินฝาก
 
 

สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากปีก่อนหน้าเหลือเพียงร้อยละ 3.23 ซึ่งเป็นผลมาจากการออกมาตรการผ่อนปรนทางด้านหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งและภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยมีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือรวม 1,284,658 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 167,310 ล้านบาท  รวมทั้ง ธ.ก.ส. ได้คืนดอกเบี้ยให้เกษตรกรตามโครงการชำระดีมีคืน เป็นจำนวนเงิน 2,231 ล้านบาท

ในปีบัญชี 2558 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จ่ายเงินกู้แล้ว 22,920 กองทุน เป็นเงิน 22,726 ล้านบาท สมาชิกกองทุนฯ ได้รับประโยชน์ 1,420,321 ราย โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม จำนวน 117,857 ราย วงเงิน 10,758 ล้านบาท โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 39,727 ราย วงเงิน 3,873 ล้านบาท โครงการจ่ายเงินเพิ่มราคาอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อย ปีการผลิต 2558/59 จ่ายค่าอ้อยเพิ่มตันละ 160 บาท ให้กับเกษตรกร 153,072 ราย วงเงิน 16,943 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว มีเกษตรกรร่วมโครงการ 74,385 ราย จำนวนข้าว 544,771 ตัน วงเงิน 6,909 ล้านบาท

นายลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปีบัญชี 2559 ธ.ก.ส.ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 120,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 10 โดยจะเน้นการดำเนินงานตามโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร และโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคชนบท รวมทั้งสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล 


ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาธุรกิจสินเชื่อ สำนักวิเคราะห์และกลั่นกรองสินเชื่อ และสำนักสอบทานสินเชื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านสินเชื่อและสอดคล้องกับหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ทำให้มีความพร้อมรองรับการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ธ.ก.ส. มีแผนยกระดับการให้บริการที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้น อาทิ แผนการพัฒนาระบบการชำระเงินรองรับยุทธศาสตร์ National e- Payment ตามนโยบายรัฐบาล การเปลี่ยนบัตร ATM ให้เป็นรูปแบบ Chip Card ทดแทนบัตรแบบแถบแม่เหล็ก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ และแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่านโครงการ Mobile Phone Banking การออกบัตร Debit และ บัตร Credit เป็นต้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 เม.ย. 2559 เวลา : 11:26:18

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 4:20 pm