ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ. เร่งแจงชาวไร่ยาสูบเข้าใจคลาดเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่


คณะกรรมการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ให้กระทรวงสาธารณสุขสื่อสารทำความเข้าใจกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในประเด็นข้อกังวลที่เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลที่อาจจะกระทบและกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบในระยะยาว ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อเสนอครม.ต่อไป


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายอนันต์ ลิลา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วม ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมสรรพสามิต กรมควบคุมโรค กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันการศึกษา ผู้แทนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และนักวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมเพื่อศึกษาถึง ผลที่อาจจะกระทบ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่อาจจะได้รับผลกระทบจาก     การบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องการ    ให้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

 
 
นายแพทย์สุวรรณชัยให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้มีมติใน 2 เรื่อง คือ1.ให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการสื่อสารเจตนารมณ์ และสาระสำคัญที่แท้จริงตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ไปยังเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต เพื่อนำมาชี้แจงในประเด็นอื่นๆ ที่เกษตรกรมีความกังวล เช่น โควตาการปลูก การรับซื้อใบยาสูบ เป็นต้น โดยใช้สำนักงานยาสูบภูมิภาค 8 แห่งทั่วประเทศเป็นช่องทางการสื่อสาร ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกยาสูบประมาณร้อยละ 80 จะอยู่ใน 4จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุโขทัย เพชรบูรณ์ และหนองคาย และ2.ให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลที่อาจจะกระทบและกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในระยะยาว นำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาศึกษาวิเคราะห์ผลที่อาจจะกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือในระยะยาว โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมเป็นคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดนี้อีกครั้งภายใน  1 เดือน ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบที่ใช้มาเกือบ 25 ปีทั้ง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและพันธกรณีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC)
 
 
ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็น1 ใน 180 ประเทศทั่วโลก เช่น การห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อป้องกันการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ และจะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ รวมทั้งการจำกัดอายุผู้ซื้อบุหรี่ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา 

 
สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ไม่มีบทบัญญัติใดที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก การกำหนดโควตาการเพาะปลูกและรับซื้อใบยาสูบ การบังคับให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนหรือเปลี่ยนอาชีพ หรือแม้แต่การห้ามเกษตรกรชาวไร่ยาสูบติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ในส่วนของประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการห้ามบริษัทบุหรี่ทำกิจกรรม CSR นั้น ในร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ยังคงทำได้เช่นเดิมทั้งในระหว่างผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจยาสูบ เช่น กิจกรรมหรือความช่วยเหลือด้านต่างๆที่บริษัทบุหรี่ทำให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบหรือแม้แต่การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลานของชาวไร่ยาสูบ หรือผู้ค้าปลีกยาสูบ รวมทั้งยังยกเว้นให้สามารถบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงได้ด้วยเช่นกัน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ค. 2559 เวลา : 13:27:29

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:30 am