ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรฯจับมือราชทัณฑ์ถ่ายทอดอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-ทอผ้าแก่ผู้ต้องขัง


 


เกษตรฯ ร่วมขยายผลโครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จับมือกรมราชทัณฑ์ถ่ายทอดอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-ทอผ้าแก่ผู้ต้องขัง 5 เรือนจำในเขตภาคเหนือ 
 
พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2559 นี้ กรมหม่อนไหมได้มีแผนประสานความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ขยายผลต่อยอด “โครงการคืนคนดีสู่สังคม” ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเร่งดำเนินโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขังก่อนการปลดปล่อย    มีเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้ต้องขังชายและหญิงในเรือนจำเขตภาคเหนือ จำนวน 5 แห่ง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้า      เพื่อเป็นแนวทางสร้างอาชีพและสร้างรายได้หลังพ้นโทษ ประกอบด้วย เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำชั่วคราวห้วยม้า ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เรือนจำกลางจังหวัดตาก และเรือนจำชั่วคราวร่องห้า สังกัดเรือนจำจังหวัดพะเยา
 
 
 
ขณะเดียวกัน กรมหม่อนไหมได้เข้าไปฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตลอดจนการแปรรูปหม่อนและไหมครบวงจรแก่ผู้ต้องขังชายและหญิงในเรือนจำ เพื่อเปิดโอกาสและให้มีอาชีพติดตัวไปหลังได้รับการปลดปล่อย ซึ่งจะทำให้มีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตและไม่หวนกลับเข้าสู่เรือนจำอีก รวมทั้ง ยังเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยผ่อนคลายและลดความเครียดให้กับผู้ต้องขังระหว่างต้องโทษ ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มีผู้ต้องขังในเรือนจำเข้าร่วมโครงการคืนคนดีสู่สังคมในส่วนของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าแล้ว จำนวน 365  ราย
ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมหม่อนไหมเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่ได้ร่วมดำเนินโครงการคืนคนดีสู่สังคมฯ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ที่เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งมีการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การปลูกหม่อนผลสด การสาวเส้นไหม การฟอกย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าไหมยกดอก และแปรรูปผลิตภัณฑ์หลายอย่าง อาทิ ชาหม่อน แปรรูปหม่อนผล ทั้งยังมีการผลิตรังไหมสดเพื่อจำหน่าย เป็นต้น ปัจจุบันได้ขยายผลโครงการฯ ดังกล่าวไปสู่เรือนจำต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 แห่ง เบื้องต้นพบว่า ผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงให้ความสนใจอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมจำนวนมาก  สังเกตจากจำนวนผู้ต้องขังที่ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการฯ ทะลุเกินเป้าที่ตั้งไว้ 
“เรือนจำที่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ กรมหม่อนไหมจะเข้าไปส่งเสริมความรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างครบวงจร ส่วนเรือนจำที่มีพื้นที่จำกัดและไม่มีพื้นที่ปลูกหม่อน เช่น ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ก็จะส่งเสริมความรู้ด้านการฟอกย้อมสีเส้นไหม และการทอผ้าพื้นและผ้าไหมยกดอกผลปรากฏว่า ผู้ต้องขังสามารถที่จะทอผ้าพื้นและผ้าไหมยกดอกลำพูนได้งดงาม จนได้รับเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รับรองคุณภาพของผ้าไหมได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันผู้บริโภค  มีความต้องการสูงแต่ผลิตได้ไม่พอขาย อนาคตได้มีแผนขยายผลโครงการฯ ไปสู่เรือนจำในจังหวัดลำพูนด้วย” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว
 

บันทึกโดย : วันที่ : 06 พ.ค. 2559 เวลา : 07:29:58

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:26 pm