ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 16-20 พ.ค. 59


 


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบ เวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหว ที่กรอบ 41 - 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ  42 - 48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
          
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ  (16 - 20 พ.ค. 59)
          
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่า จะได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบ ที่เพิ่มขึ้น หลังจากบริษัทน้ำมันในแคนาดาทยอยกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันได้เกือบทันทีภายหลังจากที่ไฟป่าในรัฐ อัลเบอร์ตาคลี่คลายลง  นอกจากนี้  ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานส่วนเกิน จากอิหร่านที่เข้ามาสู่ตลาดเร็วกว่าที่ คาดการณ์ไว้ โดยอิหร่านยังคงเดินหน้าตามแผนการทวงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืน มา อย่างไรก็ดี ตลาดอาจจะเคลื่อนไหวในแดนบวกต่อไปได้ หากเหตุการณ์โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่อขนส่งน้ำมันดิบ สำคัญในประเทศไนจีเรียยังไม่คลี่คลาย รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่อาจปรับลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี
 
 
          
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
          
สถานการณ์ไฟป่าในรัฐอัลเบอร์ตา ทางตอนใต้ของแคนาดา ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญ ได้คลี่คลายลง โดยบริษัทน้ำมันในพื้นที่ทยอยกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันได้เกือบทันทีภายหลังจากที่ ไฟป่าทุเลาลง เนื่องจากแหล่งทรายน้ำมัน (oil sand) ทางตอนเหนือของเมือง  ฟอร์ต แมคเมอร์เรย์ ไม่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าครั้งนี้  โดยก่อนหน้านี้ ในช่วง ต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ไฟป่าได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่บางส่วนของ เมืองฟอร์ต แมคเมอร์เรย์ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของแคนาดาในรัฐ อัลเบอร์ตาต้องชะงักไปชั่วคราวกว่า  1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ กว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตของประเทศ
         
 
อิหร่านยังคงเดินหน้าตามแผนทวงคืน ส่วนแบ่งการตลาด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ทางเศรษฐกิจจากชาติมหาอำนาจในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยล่าสุดอิหร่านประกาศปรับลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) สำหรับราคาน้ำมันดิบชนิดหนักให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากซาอุดิอาระเบียและอิรัก โดยส่วนต่างของราคา OSP ของอิหร่านเมื่อเทียบกับราคา OSP ของอิรักและ OSP ของซาอุดิอาระเบีย (Discount) ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550
         
 
จับตาสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศไนจีเรีย หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่อขนส่งน้ำมันดิบ สำคัญในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการผลิต น้ำมันดิบในเดือน พ.ค. ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ระดับ 1.69 ล้านบาร์เรล ต่อวัน นอกจากนี้ บริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ ต้องอพยพคนงานออกจากแหล่งผลิตน้ำมัน Bonga ที่มีกำลังการผลิต 9 หมื่นบาร์เรลต่อวัน หลังจากถูกโจมตี ประกอบกับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางบริษัท เชฟรอน  ต้องหยุดการผลิตน้ำมันในแหล่ง Okan  ซึ่งมีกำลังการผลิต 3.5 หมื่นบาร์เรลต่อวันไปก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่าสาเหตุของความไม่สงบในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ทางภาคใต้ของไนจีเรีย เป็นผลพวงมาจากความไม่พอใจของคน ในพื้นที่ต่อการจัดสรรรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ไม่ยุติธรรม ทั้งที่เงินรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบกว่า 70% ของไนจีเรีย มาจากน้ำมันดิบในพื้นที่
          
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ (ณ วันที่ 6 พ.ค.)  ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 8.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ชะลอการลงทุนและ ผลิตน้ำมันดิบลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนในการผลิตใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจำนวน แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ ของ Baker Hughes ที่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (สิ้นสุดวันที่ 29 เม.ย.) ปรับลดลงต่อเนื่องอีก 4 แท่นมา สู่ระดับ 327 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552
          
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน จำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้าง และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
          
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ ที่ผ่านมา (9 - 13 พ.ค. 59)
          
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.55 ดอลลาร์  ปิดที่ 46.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.47  ดอลลาร์  ปิดที่ 47.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่  45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์ไฟป่าในประเทศแคนาดา ที่ทวีความรุนแรงและขยาย วงกว้างจนส่งผลกระทบให้กำลังการผลิต น้ำมันดิบของประเทศต้องหยุดชะงักชั่วคราวไปราว 1 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบที่ลดลงจากการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบในประเทศไนจีเรีย  ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2559 เวลา : 07:43:01

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:21 pm