ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมอนามัยห่วงแม่บ้านอาหารถุง แนะใช้หลัก 3 ป. ตัดสินใจก่อนซื้อ


 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะแม่บ้านยุคใหม่ที่พึ่งอาหารถุงหรืออาหารปรุงสำเร็จให้เน้นหลัก 3 ป. และให้สังเกตอาหารด้วยการดูและดมกลิ่น ในการเลือกซื้อ โดยคำนึงถึงประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด ใช้การดูและดมเพื่อดูความผิดปกติของอาหาร พร้อมเน้นย้ำให้มองหาร้านที่มีสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อ

          
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการซื้ออาหารสำเร็จรูปอย่างปลอดภัย ว่า แม่บ้านสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาปรุงอาหารเอง ต้องพึ่งอาหารถุงหรืออาหารสำเร็จรูป เพราะสะดวกสบาย อาจไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอันตรายจากเชื้อโรคและสารเคมีต่างๆ ที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือ แม้แต่พิษภัยที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น เห็ดป่า ปลาปักเป้า ดังนั้น การเลือกซื้ออาหารเพื่อบริโภค จึงต้องใส่ใจมากขึ้น โดยต้องยึดหลัก 3 ป. ได้แก่
 
1) ป.ประโยชน์ คือ เลือกอาหารที่มีความสด และคุณค่าทางโภชนาการ 2) ป. ปลอดภัย คือ เลือกอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ทำให้เกิดโรคและสารพิษ และ 3) ป. ประหยัด คือ เลือกอาหารที่มีในท้องถิ่น มีตามฤดูกาล เพราะจะได้อาหารคุณภาพดี ราคาถูก และการเลือกอาหารนั้นควรใช้หลักการดู โดยดูสภาพอาหารว่ามีสภาพเปลี่ยนไปจากปกติหรือไม่ เช่น มีฟองก๊าซ สี เปลี่ยนแปลงไป หากสามารถดมได้ควรดมกลิ่นผิดปกติจากอาหารนั้นๆ หากมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นบูด ไม่ควรซื้อมารับประทาน
 
โดยเลือกซื้อจากร้านอาหาร แผงลอยที่สะอาด ปลอดภัย โดยพิจารณาตามข้อสังเกตตั้งแต่สภาพทั่วไป สะอาด เป็นระเบียบ ไม่อับทึบ หรืออยู่ในบริเวณที่สกปรก เช่น ใกล้ห้องส้วม บริเวณที่พักขยะ อาหารปรุงสุก และผักสดเก็บในภาชนะสะอาด มีการปกปิดและวางสูงจากพื้น 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันฝุ่นละออง แมลงนำโรค อาหารปรุงสุกที่จำหน่าย ควรอุ่นให้ร้อนเป็นระยะๆ เพื่อทำลายเชื้อโรค ไม่ใช้เขียงปะปนกันระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เครื่องปรุงรสมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร (อย.) บรรจุในภาชนะแก้ว กระเบื้องเคลือบขาวที่สะอาด มีฝาปิด เพื่อป้องกันการกัดกร่อน
           
 
 
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า น้ำดื่ม หรือเครื่องดื่ม ต้องบรรจุในภาชนะที่มีการปกปิด และมีที่ตักด้ามยาวหรือทางเทริน น้ำแข็งต้องสะอาด มีที่ตัก ไม่แช่อาหารหรือสิ่งอื่นๆปะปน ภาชนะจาน ชาม ช้อน ตะเกียบ ล้างและคว่ำเก็บในที่สะอาดเป็นระเบียบ หยิบจับง่าย เก็บสูงจากพื้น 60 เซนติเมตร คนปรุง คนขาย คนเสิร์ฟ ต้องแต่งกายให้สะอาด สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ไม่มีบาดแผลที่มือ และไม่ใช้มือหยิบจับอาหารที่พร้อมรับประทาน แต่ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ช้อน ทัพพี ที่คีบ ส่วนถังขยะที่รวมขยะและเศษอาหาร ต้องมีฝาปิดและไม่รั่วซึม และต้องไม่มีสัตว์ แมลงนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน บริเวณที่เตรียมปรุงอาหาร ทั้งนี้ ก่อนเลือกซื้ออาหารให้สังเกตป้ายสัญลักษณ์อาหารและสะอาด รสชาติอร่อยหรือ Clean Food Good Taste เพื่อเป็นการยืนยันถึงความสะอาดและปลอดภัย
            
"ที่สำคัญให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรือหากเป็นอาหารค้างมื้อต้องเก็บไว้ในตู้เย็นและนำมาอุ่นความร้อนอย่างทั่วถึง ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานและหลังใช้ส้วมเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ อาทิ โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค เป็นต้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 20 พ.ค. 2559 เวลา : 10:06:07

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:45 am