ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนช่วงฤดูฝนควรระวัง 5 กลุ่มโรค โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ


 


วันนี้ (26 พฤษภาคม 2558) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งสภาพอากาศจะมีความชื้นสูงและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เป็นสาเหตุเกิดโรคหลายชนิดและสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว  กรมควบคุมโรค  จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วย ตามประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ที่ควรเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1.โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 2.โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอหิวาตกโรคและโรคไวรัสตับอักเสบ เอ 4.โรคติดต่ออื่นๆ ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคเลปโตสไปโรสิส 5.ภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อันตรายจากสัตว์มีพิษ ภัยจากฟ้าผ่า และภัยจากอุบัติเหตุทางถนน  
 
          
โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2559 โรคข้างต้นที่พบมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ โรคปอดบวม พบผู้ป่วย 84,422 ราย เสียชีวิต 128 ราย รองลงมาคือโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 48,928 ราย เสียชีวิต 3 ราย และโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 17,614 ราย เสียชีวิต 16 ราย

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยตั้งเป้าฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มหลัก จำนวน 3.1 ล้านโด๊ส ฟรีทุกสิทธิการรักษา  ประกอบด้วย 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีทุกคน 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทำลายสัตว์ปีกป้องกันโรคไข้หวัดนก ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสามารถรับบริการฉีดวัคซีนฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกับสปสช. ตั้งแต่วันนี้ - 31กรกฎาคม 2559
         
 
ส่วนโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และมักมีการระบาดในช่วงหน้าฝน ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ ดังนี้ 1.การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด รวมถึงนอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง 2.ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 3 เก็บ (เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ) เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ 3.การกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เป็นต้น
        
 
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคจากภัยสุขภาพ ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง รวมถึงสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) พร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่  2.การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ  3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน  หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ค. 2559 เวลา : 13:32:37

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:27 am