ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ลดโลกร้อน


 


นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการเดินทางไปเยือนสหรัฐเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และได้พบกับชมรมร้านอาหารไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และมิดแอตแลนติก ซึ่งได้มีการหยิบยกเรื่อง การยกเลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารในบางมลรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสำหรับบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยเพิ่มเติม

รัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อนำนวัตกรรมมาผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อทดแทนสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติก ปัจจุบันประเทศสหรัฐฯ มีการออกกฎหมายห้ามใช้โฟมบรรจุอาหาร จำนวน 111 เมือง ใน 12 มลรัฐ หรือคิดเป็นจำนวนการใช้กล่องบรรจุอาหารต่อปีประมาณ 3.2 พันล้านกล่อง ได้แก่ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ออรีกอน และวอชิงตัน เป็นต้น ซึ่งเป็นมลรัฐที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
 
 
ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าวได้เริ่มมีผลบังคับใช้ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นมลรัฐแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และมลรัฐนิวยอร์กจะเริ่มมีผลบังคับใช้ปี พ.ศ. 2559 และคาดว่าจะมีแนวโน้มการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอีกหลายรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีการออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก โดยปัจจุบันมีมลรัฐที่ออกกฎหมายดังกล่าวแล้วจำนวน 16 มลรัฐ และมีค่าทำเนียมในการใช้ถุงพลาสติกแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่มีอัตราเท่ากับ 5 เซ็นต์ต่อถุง ทำให้มีหลายมลรัฐเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษมากขึ้น
 
 
 

จากการออกกฎหมายห้ามใช้โฟมบรรจุอาหาร ประกอบกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทำให้สถิติการนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษ (HS Code 4819) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 สหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้าทั้งหมดเท่ากับ 2,328.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.44 ประเทศที่สหรัฐฯนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษมากที่สุด ได้แก่ จีน และ แคนาดา โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 42.4 และ 35.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ จีนมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ในขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าเป็นลำดับที่ 20 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 0.2 มีมูลค่านำเข้าในปี 2558 เท่ากับ 0.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาขายปลีกกล่องโฟมในสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 เซ็นต์ต่อกล่อง ในขณะที่ราคาขายปลีกบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้อยู่ที่ประมาณ 25-50 เซ็นต์ต่อกล่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษในตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการออกกฎหมายการห้ามใช้โฟมและกระแสลดโลกร้อน ทำให้เป็นโอกาสของไทยในการทำกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อขยายส่วนแบ่งทางตลาดในสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 0.2 ซึ่งปัจจุบันไทยสามารถพัฒนานำเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือใช้จำนวนมากจากการผลิตน้ำตาล มาใช้เป็นวัสดุบรรจุอาหารที่ย่อยสลายได้ ไทยจึงควรพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในด้านนวัตกรรมและการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายปลีกในสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 25-50 เซ็นต์ต่อกล่อง เพื่อให้เป็นสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทยในการรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ต่อไป

 

ทั้งนี้ นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่แต่ตลาดสหรัฐอเมริกา หลายๆ ตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย ก็เริ่มใช้นโยบายลดโลกร้อน โดยลดการใช้ถุงพลาสติกลงแล้ว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทองของไทยที่จะส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่ย่อยสลายได้ หรือจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ที่เรียกว่า Biodegradable ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตผลที่เหลือจากการเกษตรสามารถนำมาต่อยอดการผลิตเหล่านี้ได้และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศได้มากขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2559 เวลา : 06:49:29

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:27 pm