ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ. เผยระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาไทยเข้มข้นหลังมีข่าวผู้ป่วยโผล่ที่อุดรฯ


 


 วันนี้ (29 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่จังหวัดอุดรธานี นั้น เป็นกรณีเดียวกันที่สืบเนื่องจากที่ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคไต้หวันรายงานผ่านทางเว็บไซต์ว่าพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นชาวไทยเดินทางเข้าไปทำงานในไต้หวัน  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้เคยให้ข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา และประสานไปยังศูนย์ป้องกันควบคุมโรคไต้หวันเพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีอาการป่วยและเดินทางไปยังที่พักคนงานในไต้หวันแล้ว จากการติดตามข้อมูลไม่พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมแต่อย่างใด
 
         
สำหรับการดำเนินการควบคุมโรคในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ส่งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ทั้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี และสำนักระบาดวิทยา ดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ทันทีที่พบรายงานผู้ป่วยผ่านทางเว็บไซต์ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคไต้หวัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคตามมาตรการการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุด และเป็นไปตามมาตรการองค์การอนามัยโลกและกฎอนามัยระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ส่วนในพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดอุดรธานีก็ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดเช่นกัน  
          
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย  มีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ ทำให้สามารถตรวจหาการติดเชื้อไวรัสซิกาได้เองแล้วส่งผลให้ปีนี้จะมีการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังไม่นับเป็นการระบาดของโรคที่รุนแรงดังเช่นที่ปรากฎในประเทศแถบลาตินอเมริกา  ซึ่งในขณะนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใน 9 จังหวัด  และมี 7 จังหวัดที่ควบคุมโรคได้แล้ว ได้แก่ นนทบุรี นครราชสีมา พิษณุโลก สุโขทัย กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี
          
นายแพทย์อำนวย  กล่าวต่อไปว่า ส่วนในจังหวัดอุดรธานี นั้น เคยมีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขและสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคจนพ้นระยะ สามารถควบคุมให้โรคสงบลงได้แล้ว แต่เมื่อมีรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มเติม ก็ต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคสูงสุด ทั้งนี้เป็นไปตามตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อโรคที่ต้องเฝ้าระวังที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับใหม่ หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที  
          
ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลและตื่นตระหนกในเรื่องดังกล่าว ประชาชนสามารถเดินทางได้ตามปกติ  แต่ขอให้ตระหนักในการป้องกันโรคและช่วยกันกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกัน ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยและติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง  ส่วนอาการของโรค ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่นๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที แต่หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะถ้าติดเชื้ออาจส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ทำเกิดภาวะสมองเล็กได้
          
นายแพทย์อำนวย  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะพบการระบาดได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และหญิงในวัยเจริญพันธุ์ ดังนี้ 1.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน และสถานที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรคดังกล่าว 2.การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด  และ 3.หญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขทั่วไป  หากพบสถานการณ์หรือมีข้อมูลเพิ่มเติม กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ประชาชนสามารถติดตามแนวทางคำแนะนำและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : วันที่ : 29 พ.ค. 2559 เวลา : 16:47:54

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:52 am