ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รณรงค์'วันสิ่งแวดล้อมโลก'นำร่องดูแลสุขภาพคนทำงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะ 8 จ.เสี่ยงสูง


 


นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจและเกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก เพื่อร่วมมือกันขจัดภัยอันตรายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามชาวโลก ในส่วนของประเทศไทย หน่วยงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนชาวไทย 
         
 สำหรับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดโครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จากการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ นำร่องในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี โดยมีประเด็นสื่อสารการรณรงค์ คือ “เก็บขยะ เก็บชีวิต อย่าคิดเสี่ยง” โรคจากการทำงานป้องกันได้ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพประชาชนให้ปลอดโรค ปลอดภัย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำในทุกๆ ด้านของประเทศไทย ซึ่งปัญหาด้านสาธารณสุขก็เป็นหนึ่งในนั้น
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัญหาขยะในประเทศไทย (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ)พบว่าในปี 2557 มีปริมาณขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 26.19 ล้านตัน/ปี  โดยปริมาณขยะตกค้างสะสมทั่วประเทศ จำนวน 14.8 ตัน ส่วนจังหวัดที่มีวิกฤตปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างสะสม 5 อันดับแรก คือ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น นอกจากนี้ ยังพบว่าปัญหาขยะอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีปริมาณประมาณ 376,801 ตัน จากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีชุมชนที่ประกอบอาชีพรับซื้อและคัดแยกซากขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปขายต่อ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ข้อมูลจำนวนประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ ซึ่งอยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม(Hot Zone) 8 จังหวัดดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงประมาณ 20,000 คน (500-3,000 คนต่อจังหวัด)
          
สำหรับคนที่ทำงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะ มีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในทุกๆด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม อันเป็นผลมาจาก ขยะมูลฝอย ที่เป็นแหล่งสะสมของสารเคมีอันตราย เชื้อโรคต่างๆหรือแม้แต่ของมีคมต่างๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายพื้นที่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ คือ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยทางด้านระบบทางเดินหายใจ และมักมีปัญหาสุขภาพจากขยะติดเชื้อและสารเคมีตกค้างในร่างกาย เช่น สารตะกั่ว สารหนู ปรอท และสารโลหะหนักอื่นๆ และเมื่อเกิดการเจ็บป่วย จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า โครงการนี้ เป็นความร่วมมือของเครือข่ายระดับประเทศ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรพัฒนาเอกชน  โดยมีการจัดทำทะเบียน การบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและตรวจสุขภาพเบื้องต้น การให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง เช่น การทำแผลและฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก กรณีของมีคมบาดเจ็บขณะเก็บขยะ การได้รับอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น เป็นต้น
          
หากประชาชนสงสัยว่าตนเองอาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษจากขยะ เช่น ควันจากการเผาไหม้ กลิ่นสารเคมีจากบ่อขยะ เป็นต้น และทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ มึนงง แสบตา คันตา ผื่นคันตามร่างกาย คัดจมูก มีน้ำมูก (ไม่มีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์หรือรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือคลินิกโรคจากการทำงาน(ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด) ทันที  ซึ่งสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรามีความพร้อมที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดี หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 หรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน โทร.สายด่วน 1669

 

บันทึกโดย : วันที่ : 05 มิ.ย. 2559 เวลา : 10:11:03

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:07 pm