ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมอนามัย ชู 829 องค์กร ปลอดโฟม 100 เปอร์เซ็นต์


 



นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลักในการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ตั้งแต่ปี 2557 และได้กำหนดกลยุทธ์ ในการลด ละ เลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยกำหนดพื้นที่ปลอดการใช้โฟมบรรจุอาหารนำร่องให้ทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีการใช้โฟมบรรจุอาหารให้ใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย กล่องกระดาษ (Foodgrade)หรือกล่องพลาสติกชีวภาพ 

อีกทั้งได้ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สถาบันและศูนย์วิชาการร่วมรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานราชการอื่น พร้อมให้ใช้วัสดุทดแทนอาทิ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มอก. เช่น จาน ชาม แก้ว กล่องข้าว ปิ่นโต เพื่อลดขยะ ทดแทนด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว สำหรับห่อข้าวหรือขนม และทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ชานอ้อยผสมเยื่อไผ่ มันสำปะหลังซึ่งย่อยสลายตามธรรมชาติได้ในเวลา 45 วัน ต่างจากโฟมที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 1,000 ปี ตลอดจนการ ปฏิเสธการใช้โฟมทุกรูปแบบ โดยไม่ใช้บริการจากสถานประกอบการอาหารที่ใช้โฟมบรรจุอาหาร
            
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 กรมอนามัยได้ขยายพื้นที่การรณรงค์ไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ หน่วยงานราชการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนที่ร่วมลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 จากเดิมในปี 2558 จำนวน 14 แห่ง เพิ่มเป็น 33 แห่ง ในปี 2559 อาทิ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุม ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร Franchise สถานีบริการน้ำมัน สำนักงาน สมาคม ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอยและตลาดสด เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าอาหารและผู้บริโภคเลือกได้ใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนโฟมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
 
 
สำหรับการรณรงค์ฯ ในปี 2559 กรมอนามัยได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินองค์กรหรือพื้นที่ปลอดโฟม 100% คือ องค์กรหรือพื้นที่มีการกำหนดนโยบาย สนับสนุนและส่งเสริมการลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร มีการบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนโฟมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และต้องเลิกใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารมาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกันในปีแรกที่เข้าร่วมการรณรงค์ฯ
             
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า องค์กรที่ผ่านการประเมินเป็นองค์กรปลอดโฟม 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ต้องปลอดโฟมต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งผลการประเมินในปี 2559 พบว่า มีหน่วยงาน องค์กร พื้นที่ทั่วประเทศเข้ารับมอบโล่และประกาศเกียรติคุณองค์กรปลอดโฟม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 829 องค์กร มีพื้นที่ปลอดโฟมจำนวน 12,888 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นองค์กรต้นแบบในการรณรงค์ในปี 2560 ที่จะขยายให้ครอบคลุมในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เช่น หน่วยงานภาครัฐที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา โรงเรียน ชุมชน อำเภอ จังหวัด ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร Franchise สถานีบริการน้ำมัน ศูนย์อาหาร ถนนอาหารและตลาดสด เป็นต้น
             
"ทั้งนี้ โฟมเป็นผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกโพลีสไตรีน มีน้ำหนักเบา ราคาถูก ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านิยมใช้โฟมเป็นภาชนะใส่อาหารทั้งอาหารสดและอาหารที่ปรุงสำเร็จ โดยอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วเมื่อสัมผัสกับความร้อนและไขมันในอาหาร ก็อาจทำให้ให้มีสารเคมีจากโฟมบรรจุอาหารปนเปื้อนสู่อาหารได้ สารเคมีที่พบในโฟมบรรจุอาหารประกอบด้วย 1) สารสไตรีน Styrene เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B Carcinogen in Group 2 ที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก และเกิดโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติ มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรี 2) เบนซิน มีคุณสมบัติละลายได้ดีน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อร่างกายเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจ เต้นแรง การได้รับเบนซินเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง Anemia เนื่องจากเบนซินจะทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง และ 3) พทาเลท Phthalate เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เป็นหมันในผู้ชาย หญิงมีครรภ์อาจให้กำเนิดลูกที่มีอาการดาวน์ Down Sysdrome” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
 
 
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 05 มิ.ย. 2559 เวลา : 10:21:06

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:55 pm