ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง


 


นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Ivestor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง 9.01% หรือมาอยู่ในระดับ 93.48 จากดัชนีเดือนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 102.74 
          
ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในกรอบทรงตัว ซึ่งมีปัจจัยลบ คือ นโนบายทางการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขณะที่ปัจจัยบวก คือ นโยบายภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ บริการรับเหมาก่อสร้าง และหมวดธนาคาร เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด 
          
นางวรวรรณ กล่าวว่า นักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากผลกระทบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย เช่น สหรัฐฯ และจีน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพามาตรการจากภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งมาตรการการสนับสนุนการลงทุน เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมาตรการส่งเสิรมการลงทุน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการประคับประคองการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศได้
         
 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การลงมติของชาวอังกฤษว่าจะออกจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ที่อาจจะเป็นเหตุให้ FED ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.59 โดยความไม่แน่นอนดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดความผันผวนต่อค่าเงินปอนด์ และยูโร และน่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในระยะสั้น จากความผันผวนของค่าเงินบาท ขณะที่ในระยะยาวเมื่อความกังวลหมดไป ตลาดหุ้นไทยก็จะกลับมาสะท้อนต่อปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน
          
ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.2% จากแรงขับเคลื่อนของภาคบริการ และภาครัฐเป็นหลัก ส่วนภาคการเกษตรมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากภัยแล้งที่บรรเทาลง 
           
ขณะที่จากปัจจัยบวกที่มีมากขึ้น มองว่าน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับเพิ่มขึ้นของ GDP  หลังตัวเลขไตรมาส 1/59 ออกมาค่อนข้างดี และการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายภาคระฐที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อน โดยยังมีวงเงินเหลืออยู่ราว 3 แสนล้านบาท ที่สามรถเบิกใช้ได้ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งรัฐบาลก็มีกระสุนเหลืออยู่เพื้อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
         
 "แรงขับเคลื่อนของปีนี้ก็ยังเป็นภาคบริการ ซึ่งจะพบว่านักท่องเที่ยว ยังคงโตได้ถึง 12.5% ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่านักท่องเที่ยวในปีนี้จะอยู่ราว 3 ล้านราย และการลงทุนภาครัฐ ที่ต้องรอดูว่าแผนการลงทุนภาครัฐ ที่จะพบว่า ตั้งแต่ไตรมาส 2/59 เป็นต้นไป จะเห็นการใช้จ่ายเกิดขึ้น ขณะที่การส่งออกเริ่มจะดีขึ้น แต่จะส่งผลดีในบางอุตรสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ,อาหาร, ปิโตรเลียม เป็นต้น"
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มิ.ย. 2559 เวลา : 15:18:31

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:00 am