ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รปภ. 2.7แสนคนไม่ตกงาน กศน.วาง 2ทางเลือก'เทียบโอน 6 เดือนและเพิ่มวุฒิ'


 


ก.แรงงาน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) 2.7 แสนคนไม่ตกงานแน่นอน กศน. วาง 2 ทางเลือก เทียบโอน 6 เดือนและเพิ่มวุฒิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมเตรียม 20 สถานที่ฝึกอบรม 

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งไม่จบ ม.3  ภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และมีผลบังคับใช้แล้วนั้น วันนี้ (7 มิ.ย.59) นายสุวิทย์  สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมได้หารือแนวทางการจัดการศึกษาให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 โดยมีกระทรวงแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน. )  กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัย เข้าร่วมหารือ
 
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือในประเด็นดังกล่าว และยืนยันว่า ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ที่ออกมา รปภ. ที่ทำงานอยู่เดิมในส่วนของผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษา ม.3 ประมาณ 2.7 แสนคนไม่มีผลกระทบต่อการทำงานยังสามารถทำงานต่อไปได้ 
 
 

ทั้งนี้ การสำเร็จการศึกษา วุฒิ ม.3 นั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน. ) กำหนดให้มี 2 ทางเลือก ได้แก่ (1) การเทียบระดับชั้น (เทียบโอน) ในหลักสูตรเร่งรัด 6 เดือน  จะมีค่าใช้จ่าย จำนวน 3,000 บาท  ซึ่งต้องผ่านการประเมินประสบการณ์ การประเมินความรู้ความคิด การสอบข้อเขียน และการสัมมนาวิชาการ (2) การเรียนเพิ่มวุฒิ แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปี  อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน. ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในระบบเข้ารับการศึกษานอกโรงเรียนจาก กศน.  ซึ่งนายจ้างยินดีให้การสนับสนุน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  สำหรับกระทรวงแรงงานจะมีการวางโรดแมปการดำเนินงานและให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
 

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า การหารือครั้งนี้กระทรวงแรงงานจะรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปให้เป็นกรอบ มีแผนในการดำเนินการที่ชัดเจน และต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการ นายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในวันนี้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับวิชาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.)
 
 

“สิ่งสำคัญที่สุดของการหารือในครั้งนี้ คือ วันนี้เรามีความเห็นร่วมกันว่าเราจะช่วยประเทศชาติโดยการยกระดับความรู้ของคนไทยที่เป็น รปภ. 2.7 แสนคน ที่มีวุฒิต่ำกว่า ม. 3 ให้ได้มีโอกาสปรับวุฒิการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยความร่วมมือของกระทรวงแรงงาน กศน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนเหล่านั้นได้มีการเทียบวุฒิการศึกษา โดยนำมาตรฐานวิชาชีพเป็นองค์ประกอบในการที่จะไปเทียบโอน” 
 

สำหรับสถานที่การฝึกอบรม ในระยะเริ่มแรกหากสถานที่ฝึกอบรมไม่เพียงพอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัย ทั้งหมด 20 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบังคับการฝึกอบรมตำรวจกลางที่ศาลายา ศูนย์ฝึกอบรมภาค 1 – 8 ศูนย์ฝึกอบรม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนกองกำกับ 1-9 ของกองกำกับการพิเศษ จำนวน 9 แห่ง รวมเป็น 20 แห่ง 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มิ.ย. 2559 เวลา : 07:19:06

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:56 pm