ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคจับมือ 7 เมืองใหญ่ชั้นนำของประเทศลดภัยทางถนน (City RTI)


 

กรมควบคุมโรค จับมือ 7 เมืองใหญ่ชั้นนำของประเทศ ลดภัยทางถนน (City RTI) ยกระดับการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรระดับนำของภูมิภาคเอเชีย หลังพบคนไทยเสียชีวิต ชั่วโมงละ 3 คน บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคนต่อปี


          
วันนี้ (8 มิถุนายน 2559)ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายกเมืองพัทยา(นายอิทธิพล คุณปลื้ม) รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา (นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์) รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี (นายสุพจน์ วงศ์ใหญ่) รองนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช (นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง)  รองนายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง(นายจักรธร สุริแสง) เลขานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่(นายไพศาล สุรธรรมวิทย์) และผู้อำนวยการส่วนการโยธาเทศบาลนครขอนแก่น (นายธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล)   ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  “7 เมืองใหญ่  ร่วมใจ  ลดภัยทางถนน (City RTI)” เพื่อร่วมกันป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรของประชาชนที่สัญจรในเมืองใหญ่
 
 
 
         
 นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า การบาดเจ็บจากการจราจร เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับหนึ่งในสามอันดับแรกของปัญหาสาธารณสุขมาโดยตลอด  นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการจราจร เป็นอันดับ 2 ของโลก และจากข้อมูลบูรณาการ 3 ฐาน (สาธารณสุข ตำรวจ และบริษัทกลางฯ) พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการจราจรบนท้องถนนมากถึงปีละ 23,000 - 24,000 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน และข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีบาดเจ็บประมาณ 1 ล้านคน  และนอนรักษาตัวโรงพยาบาลประมาณ 2 แสนคนต่อปี ทำให้พิการกว่าปีละ 7,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและ การคมนาคมขนส่งสูง สิ่งที่ตามมาก็ คือการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนสูงตามไปด้วย
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินงานลดการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการจราจรอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกระดับเพื่อให้เกิดการบูรณาการ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีอัตราการเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน  กรมควบคุมโรค จึงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเมืองใหญ่นำร่องการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรในเขตเมืองใหญ่ ได้แก่ เมืองพัทยา เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และ เทศบาลนครเมืองเขารูปช้าง จังหวัดสงขลา
          
 สำหรับสาระสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ คือ โดยทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรในเมืองใหญ่  (City Road Traffic Injury : City RTI)  โดยส่งเสริมให้มีกลไกการจัดการข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที (Situation Room) ในการจัดการความเร็ว จัดการจุดเสี่ยง และพัฒนาพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อเป็นเขตจราจรปลอดภัย (Traffic Safety Zones) ในการใช้พื้นที่จราจร การส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่  การห้ามใช้สารเสพติดขณะขับขี่ การจัดการความปลอดภัยในเด็ก การจัดการความปลอดภัยของรถจักรยาน  และสนับสนุนมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนน  ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เมืองพัทยา และเทศบาลเมืองเขารูปช้าง พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเทคโนโลยี และงบประมาณ ในการดำเนินกิจกรรมตามสภาพปัญหาของพื้นที่
          
 
โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรกับหน่วยงานเครือข่ายเมืองใหญ่ 7 องค์กร ทั้งสนับสนุนการวิเคราะห์สถานการณ์ เทคโนโลยี องค์ความรู้ และการสอบสวนการบาดเจ็บจากการจราจร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายในงาน City RTI ให้สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการเชื่อมโยงขยายผลไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น
 
ทั้งนี้ หวังว่าการร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรในเมืองใหญ่จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เขตเมืองในการดำเนินการ และขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน  ทั้งในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือเดินทางในช่วงเวลาปกติ ขอให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง สำหรับผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และโดยสาร  อย่าลืมสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง ที่สำคัญหากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากการจราจร  หากเป็นไปได้ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนหรือเกิดความพิการได้  
 
จึงขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มิ.ย. 2559 เวลา : 13:37:32

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:09 am