ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
'อนุพงษ์'สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม


 


'อนุพงษ์'สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในช่วงฤดูฝน ย้ำทุกพื้นที่ต้องมีฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงที่เป็นปัจจุบัน - ครอบคลุมทุกด้าน ควบคู่กับการวางเครือข่ายการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (9 มิ.ย.59) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งในหลายพื้นที่ได้เริ่มมีฝนตกและคาดว่าจะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของฤดู ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การวางมาตรการเพื่อ ลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยให้มีการทบทวน ปรับปรุงแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มทุกระดับทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินถล่ม ซึ่งจะต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้เตรียมการป้องกันด้านโครงสร้าง โดยใช้กลไกประชารัฐสำรวจแหล่งน้ำและเส้นทางการไหลของน้ำ หากพบมีอุปสรรคต่อการรองรับน้ำทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ หรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงโดยเร็ว พร้อมจัดระบบการแจ้งเตือนให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ขั้นตอนการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนล่วงหน้า และการแจ้งเตือนภัย   ต่อประชาชน เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลประจำพื้นที่ให้พร้อมในการออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ตลอดช่วงฤดูฝนนี้
 

ด้านการจัดการในภาวะฉุกเฉิน เมื่อเกิด หรือคาดว่าจะเกิดเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้ผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์” ในระดับจังหวัด อำเภอ และ “ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นศูนย์สั่งการหลัก สำหรับการระดมสรรพกำลังและอำนวยการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งพลเรือน ฝ่ายทหาร ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรสาธารณกุศล เน้นย้ำว่าหากเกิดเหตุอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มในพื้นที่ให้ “ชุดปฏิบัติการ” เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนในทันทีที่เกิดภัย หากสถานการณ์ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ประสานการสนับสนุนกำลังพล อุปกรณ์ ยานพาหนะ จากหน่วยงานทหารในพื้นที่ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน หรือหากเหตุการณ์มีผลกระทบรุนแรงและอาจส่งผลกระทบยาวนานต่อเนื่อง ให้จัดตั้ง “ชุดประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉิน” เร่งชี้แจงกับประชาชนให้ทราบถึงความคืบหน้าของสถานการณ์และข้อควรปฏิบัติต่างๆ โดยเร็ว เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชนซึ่งอาจได้รับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากสื่อสังคมออนไลน์

และสุดท้ายด้านการฟื้นฟู ให้ประเมินความเสียหายและความต้องการเบื้องต้นของประชาชน และเร่งให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว พร้อมทั้งให้มีการออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานในการรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ในกรณีที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายจากภัยพิบัตินอกจากจะให้ความช่วยเหลือโดยจ่ายเงินทดรองราชการเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแล้วให้มีการจัดหาที่พักเป็นการชั่วคราวก่อน และให้จังหวัดขอความร่วมมือจากหน่วยงานทหารในพื้นที่ อาสาสมัครนักศึกษาอาชีวศึกษาต่างๆ รวมทั้งประชาชนผู้มีจิตอาสา ร่วมกันซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัย รวมทั้งให้ดูแลด้านสุขภาพอนามัย และจิตใจ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต อาชีพของผู้ประสบภัยเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปกติโดยเร็ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมและวางแนวทางในการรับมือกับภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยให้เน้นการทำงานเชิงรุกตั้งแต่การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว ควบคู่กับความพร้อมในการเผชิญเหตุสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มิ.ย. 2559 เวลา : 15:37:08

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 5:57 pm