ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรฯเปิดผลงานวิจัยไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่สายพันธุ์ไข่ดกให้ไข่เพิ่มกว่า 30%


 


เกษตรฯ เปิดผลงานวิจัยไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกให้ไข่เพิ่มกว่า 30% โชว์ผลลูกไก่ล็อตแรกแล้ว 2 พันตัว เล็งพัฒนา/ขยายผลสู่เกษตรกรรายย่อยหวังสร้างทางเลือกใหม่เกษตรกร ต่อยอดสู่การผลิตไข่ไก่ธรรมชาติ และไข่ไก่อินทรีย์ ป้อนตลาดไฮเอนด์

 
 
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานแถลงผลงานวิจัย“ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก”ภายในพิธีเปิดงาน “9 ทศวรรษ บำรุงพันธุ์สัตว์ก้าวไกล ครั้งที่ 3” เปิดบ้านงานวิจัย นวัตกรรม และสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ สู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 2559 ณ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายผลักดันงานวิจัยเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เพื่อการพัฒนาการเกษตรให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน
 
 
โดยในส่วนของกรมปศุสัตว์จึงมีเป้าหมายการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์สัตว์ ที่เน้นงานวิจัยในการสร้างพันธุ์ใหม่ให้มีศักยภาพของพันธุ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่การใช้ประโยชน์ และเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยสามารถแข่งขันทางการตลาดได้  โดยในปี 2545-2550 กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองแท้ 4 พันธุ์ ได้แก่ ไก่แดงสุราษฎร์ ไก่ชีท่าพระ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์บุรี ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดไก่พื้นเมืองทั้ง 4 สายพันธุ์และขยายผลไปยังเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด
 
 

ดังนั้น ในช่วงปี 2559-2564 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการพัฒนาพันธุ์“ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่”เป็น “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก”ซึ่งเป็นการสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่ให้มีผลผลิตไข่ที่เพิ่มขึ้น 30 % เนื่องจากไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เป็นไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคระบาด และสามารถกินอาหารที่เกษตรกรหาได้ในท้องถิ่น มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และให้ไข่ดกกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ให้เนื้อที่มีคุณภาพที่ดีกว่าไก่เนื้อทางการค้า รสชาติอร่อย เป็นพันธุ์ที่ให้ไข่ดกที่สุดจึงถูกคัดเพื่อดำเนินโครงการนี้ โดยกำลังการผลิตลูกไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่/ปี กรมปศุสัตว์ 900,000 ตัว พันธุ์แท้ 400,000 ตัว ลูกผสมฯ 500,000 ตัว ฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ 1,500,000 ตัว  พันธุ์แท้ 620,000 ตัว ลูกผสมฯ 800,000 ตัว ซึ่งได้ใช้เป็นลูกไก่แจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรช่วงภัยแล้งปี 59 ด้วย

สำหรับโครงการการพัฒนาพันธุ์แท้ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกนั้นใช้งบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร 6.4 ล้านบาท โดยได้กำหนดเป้าหมายสร้างฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ที่ให้ไข่ดกเพิ่มขึ้นอีก 30 % ในเวลา 5 ปี เลี้ยงได้ในรูปแบบฟาร์ม หรือตามการจัดการโดยเกษตรกรรายย่อย (ระบบหมู่บ้าน) โดยเป้าหมายในระบบฟาร์ม เพิ่มจาก 147 ฟอง/ตัว/ปี เป็น 191 ฟอง/ตัว/ปี ระบบหมู่บ้าน เพิ่มจาก 90 ฟอง/ตัว/ปี เป็น 117 ฟอง/ตัว/ปี โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบันมีการคัดเลือกแม่พันธุ์ และผสมพันธุ์ได้แล้ว มีลูกไก่ประดู่หางดำสายพันธุ์ไข่ดกชุดแรกแล้ว จำนวน 2,000 ตัว

“การสนับสนุนและส่งเสริมผลงานวิจัยไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก ครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยการปรับใช้กับเกษตรทฤษฏีใหม่ ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรรายย่อย รายกลางนำไปเลี้ยงเพื่อบริโภคในชุมชน หรือ จำหน่ายเป็นไข่ไก่พรีเมี่ยม รวมทั้งโครงการพระราชดำริในพื้นที่ห่างไกลที่มีปัญหาการขนส่งอาหาร ที่นอกจากจะลดการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีในครัวเรือนของเกษตรกร  เพิ่มการใช้อาหารที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่ต้องจัดซื้อ  เป็นพื้นฐานในการสร้างไข่ไก่ธรรมชาติ และไข่ไก่อินทรีย์ เพื่อรองรับตลาดระดับสูงต่อไป นำไปสู่รายได้ที่มีความยั่งยืนในชนบทตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้นในอนาคต” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว








 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มิ.ย. 2559 เวลา : 11:11:18

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:35 pm