ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์พบเกษตรกรสุราษฎร์ฯ รับฟังมุมมอง TPP


 


เกษตรกร กว่า 290 คน ใน 9 จังหวัดภาคใต้ ร่วมสัมมนา “รู้จัก TPP” และแสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

นายวินิจฉัย  แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ได้ลงพื้นที่พร้อมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมวิชาการเกษตร จัดสัมมนาให้ความรู้แก่เกษตรกรภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีประธานสภาเกษตรกรจังหวัด ผู้แทนสภาเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกรตำบล และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จาก 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ประมาณ 290 คน เข้าร่วมการสัมมนา ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 
นายวินิจฉัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับทราบข้อเสนอจากภาคเกษตรที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ อาทิ การให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการจดสิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี เทคนิคการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป การบริหารจัดการเรื่องปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร ทั้งในเรื่องเมล็ดพันธุ์ดี ราคาปุ๋ยถูก และยากำจัดศัตรูพืช ตลอดจนการส่งเสริมการส่งออกมังคุดไปยังต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการประชารัฐ ซึ่งร่วมมือกับผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดีจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในราคาถูก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น ให้ภาครัฐมีกลไกการดำเนินงานเรื่องยางพารา เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
 
 
นอกจากนี้ ในเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 นั้น นับได้ว่าเป็นโอกาสที่ได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งได้คลายข้อกังวลให้กับเกษตรกรอย่างมากก็คือ เรื่องราคาเมล็ดพันธุ์แพง ซึ่งในความเป็นจริงกลไกการตลาดของธุรกิจเมล็ดพันธุ์จะขึ้นอยู่กับคุณภาพและความต้องการของผู้บริโภค และภาครัฐได้จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์เพื่อแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีราคาถูกให้เกษตรกร สำหรับเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลถัดไปนั้น  เกษตรกรยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ หากนำไปใช้เพื่อการต่อยอดการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อศึกษาวิจัย เพื่อปลูกในพื้นที่ของตนเอง โดยไม่มีจุดประสงค์ทางการค้า และกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมการทำเกษตรของเกษตรกร
 
 
ดังนั้น มั่นใจได้ว่าเกษตรกรยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลถัดไป ส่วนประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์นั้น ประเทศสมาชิกยังสามารถกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์พืชได้ภายใต้กฎหมายของตนเอง ซึ่งของไทย คือ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542  ที่มีหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เกษตรกรอยู่แล้ว สำหรับเรื่องพืช GMOs ไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าพืช GMOs ภายใต้ พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507  อยู่แล้ว และความตกลง TPP เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูล 
 

นายวินิจฉัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเร่งสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช (R&D) โดยจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพสูง สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างต่อเนื่อง ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้แก่เกษตรกร นำพันธุ์พืชใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์ได้เข้าสู่ระบบจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด และเพิ่มศักยภาพหน่วยงานที่กำกับดูแล ทั้งด้านบุคคลากร และเทคโนโลยีให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมหรือสูงกว่าประเทศคู่แข่ง  
ท้ายที่สุด กระทรวงพาณิชย์ยินดีทำงานร่วมกับกับสภาเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและพร้อมที่จะรับทราบข้อมูลของทุกส่วน เพื่อประโยชน์ต่อการประเมินแนวทางของไทย นอกจากนี้ จะมีการลงพื้นที่พบเกษตรกรในภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2559




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2559 เวลา : 10:55:09

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:55 pm