ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสทช. จับมือธปท.คุ้มครองผู้ใช้บริการ Mobile Payment


 


สำนักงาน กสทช. จับมือธนาคารแห่งประเทศไทยคุ้มครองผู้ใช้บริการ Mobile Payment หนุนบริการโทรคมนาคมและบริการทางการเงินปลอดภัยเป็นหนึ่งเดียว

 
พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการกำกับดูแลบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย (Mobile Payment) ซึ่งปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้ให้บริการร้านค้าต่าง ๆ ได้พัฒนารูปแบบการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการใช้งาน สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม จึงเห็นว่าการให้ความรู้อย่างถูกต้องต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย จะช่วยให้ผู้ที่นิยมใช้บริการ Mobile Payment ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย
 

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว ธปท. และ สำนักงาน กสทช. จะมีโครงการความร่วมมือกันในหลายด้าน ได้แก่ การยกระดับความปลอดภัยด้าน Cyber Security และการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยปิด
ช่องโหว่ที่มิจฉาชีพจะสวมรอยเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่และนำไปใช้ในการฉ้อโกงธุรกรรมทางการเงิน และยกระดับความปลอดภัยในการใช้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง รวมถึงจะสนับสนุนให้มีการใช้บริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์ – PromptPay” ที่พัฒนาขึ้นภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment และจะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจโอนเงินได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่และเลขประจำตัวประชาชนของผู้รับเงินแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝาก 

นอกจากนี้ ทั้งสององค์กรจะผสานแนวทางการกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการชำระเงินให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต (Digital Literacy) เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันรวมถึงการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงิน รู้วิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการ และส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แพร่หลายมากขึ้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันการให้บริการโทรคมนาคมและบริการทางการเงิน เริ่มผนวกเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน ในรูปแบบกระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet) นอกเหนือจากการใช้เงินสดและบัตรเครดิต ซึ่งรูปแบบการใช้งาน และไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น ประชาชนในต่างจังหวัด จะนิยมใช้บริการโอนเงินด้วย e-Wallet ของค่ายโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องใช้บัญชีธนาคารและไม่ต้องเดินทางไปสาขาของธนาคารพาณิชย์ในตัวเมือง  ขณะที่ประชาชนในเมืองใหญ่ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ก็นิยมทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งสะดวก รวดเร็ว และค่าบริการถูกกว่าการเดินทางไปยังสาขาธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงาน กสทช. และ ธปท. จึงร่วมมือกันให้ความรู้ผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้บริการดังกล่าวมีความปลอดภัย และมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอ

“จากนี้ไปสำนักงาน กสทช. และแบงก์ชาติ จะร่วมกันแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลการกำกับดูแลบริการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงิน และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนแนวทางการรับจ่ายโอนเงินโดยไม่ใช้เลขบัญชีธนาคาร แต่ใช้เลขประจำตัวประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือที่เรียกว่า บริการพร้อมเพย์ ภายใต้แนวคิดการสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ของรัฐบาล ผมอยากให้ประชาชนมั่นใจว่า การทำธุรกรรมทุกขั้นตอนจะต้องตรวจสอบได้ แก้ไขให้ถูกต้องได้ และข้อมูลส่วนบุคคลต้องไม่รั่วไหลไปยังผู้อื่น ทั้งหมดนี้ล้วนจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเป็น Thailand 4.0 หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-based Economy) ให้กับประเทศต่อไป” นายฐากร กล่าว







 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มิ.ย. 2559 เวลา : 14:15:02

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:09 am